เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. เป็นประธาน กมธ. ได้นัดหารือเพื่อประเมินและติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ล่าสุดพรรคเพื่อไทยได้สิทธิเป็นผู้นำตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล
ภายหลังการหารือนายออน กาจกระโทก สว. ในฐานะ กมธ. ให้สัมภาษณ์ ว่า ในการประชุมดังกล่าว ได้มีผู้ยกตัวอย่างว่าในกรณีที่พรรคก้าวไกล ประกาศก่อนวันที่ 27 ก.ค. นี้ ซึ่งนัดโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 3 ว่าจะขอพักการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ก่อน ทิศทางของ สว. จะเห็นอย่างไร ซึ่งใน กมธ. ได้แสดงความเห็นและมี กมธ. มองว่า หากคนที่คิดในจิตสำนึก แม้พักไว้แต่ยังคิดจะทำ จึงทำให้ตนไม่ไว้ใจ เช่น มีคนที่คิดจะทำร้ายครอบครัวและรับทราบมาก่อน ฝั่งหนึ่งบอกว่าไม่ได้ แต่อีกฝั่งบอกว่าคนที่คิดจะฆ่าพ่อแม่เรา หากให้เขาเข้ามาในครอบครัว หากเขาจะฆ่าค่อยเอาเรื่องเปรียบเทียบคือ จะรอให้ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่เราก่อนแล้วค่อยดำเนินการใช่หรือไม่
“ผมมองว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลยังมีพรรคก้าวไกล ที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ยากที่จะผ่าน ส่วนที่มีความพยายามจากพรรคเพื่อไทย เพื่อขอเสียง สว. ผมมองว่าไม่ควรมาเจรจา ไม่ใช่ว่า สว. หยิ่ง ยะโส แต่ สว. ต้องวางตัวเป็นกลาง หากให้ สส. มาเจรจา เหมือนกับมาล็อบบี้” นายออน กล่าว
ด้านนายเสรี ประธาน กมธ. กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภาวางมาตรฐานเกี่ยวกับการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ห้ามเสนอชื่อซ้ำเป็นรอบสองในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พรรคเพื่อไทยมีความกังวลในการเสนอชื่อบุคคลไปแล้วจะไม่ผ่านความเห็นชอบ ว่า เรื่องนี้ไม่เดดล็อก วันประชุมรัฐสภาวันนั้นเวลาน้อย ตนพยายามอธิบายแล้วว่า สิ่งสำคัญต้องยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง บัญญัติชัดเจนเสนอชื่อได้หนึ่งครั้ง เสนอชื่อซ้ำไม่ได้ เพราะระบุว่าไม่อาจแต่งตั้งชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ตามมาตรา 88 เมื่อไม่มีใครเสนอคนในบัญชีต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้ว เขาจึงบัญญัติไว้ในวรรคสองให้ยกเว้นเสนอชื่อคนในบัญชี เมื่อยกเว้นได้รัฐธรรมนูญเขียนต่อไว้ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบคนในบัญชีก็ได้ แปลว่าจะเอาคนนอกหรือคนในบัญชีเดิมก็ได้ แต่ต้องดำเนินการให้หมดบัญชีก่อนแล้วค่อยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 500 เสียง เพื่อยกเว้นหลักการตามวรรคหนึ่ง

“ชื่อในบัญชีเดิมเสนอซ้ำได้ แต่ต้องหลังจากที่ที่ประชุมเห็นพ้องกันแล้วด้วยเสียง 2 ใน 3 ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องข้อบังคับ เพราะนั่นเป็นเพียงส่วนประกอบบัญญัติเพื่อให้กระบวนการเสนอญัตติสามารถทำได้โดยสะดวก ราบรื่น ที่บอกว่าข้อบังคับฯ ข้อ 41 เขียนไว้ว่า เว้นแต่ประธานจะเห็นว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง คำว่าเปลี่ยนแปลงที่ว่าไม่ใช่หมายถึงการอยากจะคิดหรือจะทำอะไรก็ได้ แต่หมายความถึงเสียงที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 บอกไม่ใช้บทบัญญัติบัญชีเดิม” นายเสรี กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ประชุมสามารถใช้ข้อบังคับฯ ยกเว้นการใช้ข้อบังคับรัฐสภา ข้อ 41 ได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่ได้ เพราะข้อ 41 เป็นหลักการทั่วไปของญัตติ เมื่อจะเสนอญัตติใดในรัฐสภา เป็นเรื่องที่เสนอโดยรวมๆ อยู่แล้ว เมื่อถามย้ำว่าถ้าได้เสียง 2 ใน 3 แล้ว สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ได้ แต่ถ้านายพิธาไปติดเรื่องคุณสมบัติรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า โอกาสเกิดรัฐบาลปรองดองจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่อาจไม่ใช่การรวมทุกพรรคการเมือง จะมีเพียงพรรคก้าวไกลที่อาจไม่ได้เข้าร่วม เพราะเป็นพรรคที่มีจุดยืนแตกต่างจากพรรคอื่นๆ ส่วนการเปิดทางนายกฯ คนนอก ก็มีโอกาสเกิดได้เช่นกัน แต่อยู่ที่พรรคการเมืองตกลงร่วมกันว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และต้องได้เสียง สส. เกิน 251 เสียงขึ้นไป.