เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสตูล กลุ่มสมาคมประมงพื้นบ้านและกลุ่มชมรมประมงพื้นบ้านใน 4 อำเภอของจังหวัดสตูล กลุ่มสมาคมรักษ์ทะเลไทย และกลุ่มภาคีเครือข่าย ภายใต้การนำของ นายอับดุลรอสัก เกมหวัง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ได้เดินทางมารวมตัวกัน พร้อมทั้งมีการนำอุปกรณ์ต่างๆ ประกอบไปด้วย เต็นท์ โรงครัวฯลฯ เพื่อปักหลักรอฟังคำตอบจากทางจังหวัดสตูล ภายหลังจากได้ร่วมกันเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลขอให้ยกเลิกการทบทวนเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดสตูล พร้อมมีข้อเสนอ 2 ข้อประกอบไปด้วย
1.ขอให้เคารพการทำงานของคณะกรรมการประมงจังหวัดชุดที่แล้วที่ได้สร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างเข้มข้นจนทำให้ได้ข้อสรุปนำไปสู่การประกาศกฎกระทรวงเขตทะเลชายฝั่งสตูลเมื่อปลายปีพุทธศักราช 2565 และ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลต้องยกเลิกคำสั่งและแนวคิดที่จะทบทวนการประกาศกฎกระทรวงเรื่องเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดสตูลในทันทีมิฉะนั้นพวกกลลุ่มประมงฯจะขอปักหลักรอคำตอบอยู่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสตูลแห่งนี้จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ทั้งนี้การยื่นหนังสือดังกล่าวนั้นมี นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล) ลงมารับหนังสือกลุ่มประมงฯ พร้อมกับกล่าวกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ทางจังหวัดสตูลจะได้นำเรื่องดังกล่าวนี้ไปพูดคุยหารือร่วมกับประมงจังหวัดสตูลอีกครั้ง และพยายามชี้แจงถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหากำหนดเขตทะเลชายฝั่งในบริเวณจังหวัดสตูล พุทธศักราช 2565 ว่า เป็นทางออกของการนำมาซึ่งการแก้ปัญหาในพื้นที่ประมง ระหว่าง 2 กลุ่ม ที่มีความเห็นไม่ตรงกันด้วย
ด้าน นายอับดุลรอสัก กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นใหม่ในครั้งนี้ นั้นเป็นผลมากับการปิดอ่าวในก่อนหน้านี้ พบว่า มีเพียงเรือไม่กี่ลำที่มาเป็นเงื่อนไขเพื่อเปิดเวทีรับฟังใหม่ และยกเลิกแนวเขตทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานของรัฐไปรับคำสั่งมาจากใคร ถ้าถามกลับว่า ประมงพื้นบ้านเดือดร้อนไหม ยืนยันว่า ได้รับเดือดร้อนมาก หากเป็นปัญหาการจัดการทรัพยากรทางทะเล เพราะว่า พื้นที่ที่มีการประกาศคุ้มครองชายฝั่ง ถือว่า เป็นพื้นที่สำคัญในการฟื้นฟูสัตว์น้ำ เมื่อสัตว์น้ำโตเต็มวัยก็ออกไปฐานทะเลข้างนอก ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะจับปลาได้ ไม่ว่า จะเป็นประมงพื้นบ้าน หรือ ประมงพาณิชย์ ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน / การประกาศเขตชายฝั่งถือว่า เป็นการประกาศเขตอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติ

ทางด้าน นายนิพนธ์ เสนอินทร์ ประมงจังหวัดสตูล กล่าวยืนยันว่า อยากจะทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า ไม่ว่า จะเป็นประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน จะต้องใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนทั้งนี้มีใช้กันจนไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน การแก้ปัญหาทุกฝ่ายต้องมามีส่วน เพราะว่า มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์เข้ามาของทุกฝ่าย ก็จะต้องมาพิจารณากันด้วยความเป็นธรรม ดังนั้น จึง เป็นที่มาของการตั้ง คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขปัญหาการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งในบริเวณจังหวัดสตูลพุทธประวัติ 2565 เพื่อเป็นการรวบรวมข้อเท็จจริง.