เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า 11 องค์กร ประกอบด้วย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย องค์การแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland) องค์กรทราฟฟิค ประเทศไทย (TRAFFIC Thailand) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวรายงาน และนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการ จ.นครสวรรค์ ให้การต้อนรับ

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในประเทศไทยที่ผ่านมา ตามนโยบายและแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2565) ด้วยการศึกษาวิจัย การฟื้นฟู การจัดการถิ่นอาศัยของเสือโคร่งและประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง ตลอดจนเป้าหมายการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565-2577 โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติเพิ่มขึ้น ภายใต้ความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่กลุ่มป่าที่เป็นถิ่นอาศัย ด้วยการยกระดับการจัดการพื้นที่และการติดตามตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก, กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่, กลุ่มป่าแก่งกระจาน, กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก พร้อมกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577

นายทรงเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 29 ก.ค. ของทุกปีเป็นวันเสือโคร่งโลก กรมอุทยานฯ จึงได้จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2566 ขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation : ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” โดยจากการประเมินประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ ในปี 2565 พบเสือโคร่ง จำนวน 148-189 ตัว เพิ่มขึ้นจากสถิติ ปี 2563 ที่สำรวจพบ 130-160 ตัว โดยอาศัยเทคนิคการประเมินเฉพาะทางและการจำแนกลายที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ซึ่งติดตั้งไว้มากกว่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง จากการศึกษาวิจัยนี้ เรายังพบอีกว่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด คือ 103-131 ตัว ในส่วนของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์แห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกตอนเหนือ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ขึ้นไปจนอุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร และ จ.ตาก สามารถบันทึกภาพเสือโคร่งได้ จำนวน 16-21 ตัว ไม่เพียงแต่ภาพของเสือโคร่งเท่านั้นหากแต่ยังบันทึกภาพเหยื่อของเสือโคร่ง เช่น กวางป่า หมูป่า เก้ง วัวแดง เป็นต้น สิ่งนี้เป็นดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่าและความเหมาะสมของการเป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี

นายทรงเกียรติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง พ.ศ. 2565-2577 โดยตั้งเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองถิ่นอาศัยสำคัญของเสือโคร่ง ได้แก่ ผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในถิ่นอาศัยเป้าหมาย ได้แก่ผืนป่าแก่งกระจาน ผืนป่าภูเขียว-น้ำหนาว และผืนป่าคลองแสง-เขาสก ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ ภายในปี พ.ศ. 2577 เป้าหมายและความสำเร็จในการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงผลงานของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังคงมีหน่วยงานจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน องค์กรอิสระต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้คือประชาชนทุกคน ที่คอยสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกัน.