ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3 ด้วยคะแนนเสียง 472 ต่อ 33 งดออกเสียง 187 หรือแปลง่ายๆ ภาษาชาวบ้าน คือ สภาฯ ผ่านการเห็นชอบต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ”

เรียกได้ว่า…หลังจากนี้การเลือกตั้งของประเทศไทยจะย้อนไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ ระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือบัตรใบเดียว จะไม่มีอีกต่อไปแล้ว หลังเพิ่งเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อการเลือกตั้งในปี 2562

มีสาระสำคัญคือ โดยให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (เดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (เดิม 150 คน) ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. 2 ประเภท (เดิม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตัดสินใจเลือก ส.ส., พรรค และนายกฯ ในบัญชีที่พรรคนำเสนอ) การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค (เดิม เข้าสูตรคำนวณหา ส.ส. พึงมีได้)

หากถามว่า เกมนี้ใครได้ ใครเสีย หลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า“พรรคใหญ่ได้ประโยชน์-ตัดตอนพรรคเล็ก”

เห็นภาพได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งใช้วิธิคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ จนเกิดปัญหาคะแนนเขย่ง ทำให้พรรคเพื่อไทย ได้จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขต 136 ที่นั่ง กลับไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว แม้จะได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 7,881,006 เสียง ซึ่งเป็นอันดับสองรองจากพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพรรคน้องใหม่ที่เพิ่งตบเท้าลุยสนามการเมือง แม้จะไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่กลับได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน

จึงไม่แปลกใจที่ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะออกมาขานรับว่า “การมีบัตรเลือกตั้ง 2 เป็นระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมกับทุกพรรค และประชาชนจะได้ประโยชน์ที่สุด เพราะได้เลือกคนที่รักพรรคที่ชอบ ไม่ถูกมัดมือชกให้เลือกกาได้เพียงใบเดียวเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่วนที่มองกันว่าพรรคใหญ่จะได้เปรียบนั้น ผมคิดว่าเร็วเกินไปหากจะสรุปเช่นนั้น เนื่องจากต้องดูวิธีการคำนวนคะแนนเลือกตั้งจากกฎหมายลูกก่อน ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีพรรคใดได้เปรียบเสียเปรียบไม่ว่าจะคำนวนอย่างไรก็ต้องคิดจากคะแนนเสียงที่ประชาชนให้มาตอนเลือกตั้ง ดังนั้นการที่รัฐสภาพิจารณาผ่านร่างแก้ไขครั้งนี้ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ที่สุด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่! ไม่มีใครบอกได้!! แต่ที่ประชาชนให้บรรดาส.ส.พึงสำนึกคือ เมื่อเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนแล้ว ได้ทำหน้าที่ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่หรือไม่?