ปรากฏการณ์ “เกมร้อนการเมืองร้าย” ยังคงส่งผลต่อเส้นทางอำนาจทางการเมืองของ “รัฐบาลเรือเหล็ก” อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลายเป็นสึนามิทางการเมือง โหมกระหน่ำอย่างจัง! ถึงขั้นทำเอารัฐมนตรีตกเรือไปหลายคน

โดยสึนามิทางการเมืองระรอกนี้ เกิดขึ้นหลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สามารถชิงเหลี่ยมหักเกม “โค่นเก้าอี้นายกฯ” ลงได้สำเร็จ จนนำมาสู่ “ปฏิบัติการเช็กบิล” เพื่อเผด็จศึกทางการเมือง กับคนที่ถูกมองว่าอยู่ฉากหลังเรื่องราวทั้งหมด โดยมีราชกิจจานุเบกษาประกาศให้ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ “แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ด้วยเหตุว่าเพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์แก่ราชการ โดยให้มีผลวันที่ 8 ก.ย.

แม้​ “ผู้กองธรรมนัส” จะรีบชิงแถลงข่าว ร่อนหนังสือลาออกจากตำแหน่ง​ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 8 ก.ย. แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโดน “บิ๊กตู่” ปลดออก ไม่ได้เป็นการลาออกเอง

ภายหลังการลาออก “ผู้กองธรรมนัส” ก็ได้ส่งสัญญาณเป็นนัยทางการเมือง อีกว่า ในส่วนของความสัมพันธ์กับ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  ยังเหมือนเดิม ส่วนความสัมพันธ์กับอีก 2 ป. ที่เหลือ ไม่ได้แตกหัก แต่เลือกเดินเส้นทางของตน ซึ่งอาจจะสร้างบ้านหลังใหม่ ส่วนจะมีคนอื่นไปด้วยหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบแทนคนอื่นได้ และเมื่อถูกถามถึงอนาคตกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้คำตอบว่า เป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อไป อาจจะไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่มีความสุข เมื่อย้ายมาจากบ้านหลังเดิมที่มีความสุขดีอยู่แล้ว

และยอมรับว่า “มีพรรคมาจีบผมเยอะแยะ และไม่เกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้ อาจจะเป็นพรรคพะเยา หรือ พรรคพลังพะเยา หรืออาจจะเป็นอีสานล้านนาก็ได้ ทุกอย่าง เตรียมไว้หมดแล้ว เร็วๆ นี้จะได้เห็นโฉมหน้าแน่ๆ”

ซึ่งสิ่งที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปคือ “บิ๊กตู่” จะแผ่ราศีอำมหิตในการโค่น “ผู้กองธรรมนัส” ออกจากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอย่างไร เพราะการเอาหอกข้างแคร่แช่ในเก้าอี้ใหญ่ไว้นาน ไม่เป็นผลดีต่อเกมอำนาจ ซึ่งเกมนี้ต้องกระทบต่อความสัมพันธ์ 3 ป. อย่างเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือเกมร้าย “ศึกในพรรคพลังประชารัฐ” ที่ “บิ๊กตู่” ต้องลงมือผ่าตัดปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคครั้งใหญ่ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการพรรค ซึ่งเมื่อเช็กเสียง ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ขั้วเดียวกับ “ผู้กองธรรมนัส” มีประมาณ 40 คน และยังมี “กลุ่มสามมิตร” กับ “กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” อยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหลังจาก “ปฏิบัติการเช็กบิล” จบลง คงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมโดยเฉพาะ กลุ่ม ส.ส.ในขั้ว “ผู้กองธรรมนัส” ซึ่งกำลังดูทิศทางการเมืองว่าจะแปรสภาพตัวเองอย่างไร

นอกจากนั้นตำแหน่งที่น่าจับตามอง คงหนีไม่พ้นเก้าอี้เลขาธิการพรรค ที่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลง โดยก่อนหน้านี้มีชื่อของ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ปรากฏชื่อเป็นแคนดิเดตเลขาธิการพรรคมาแล้วถึง 2 ครั้ง และที่น่าสนใจคือในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ รมช.รายนี้ ได้แยกตัวออกจาก “กลุ่ม 4 ช.” และประกาศตัวสนับสนุน “บิ๊กตู่” อย่างชัดเจน

ส่วน อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม หนึ่งในสมาชิก “กลุ่ม 3 ช.” ที่รอดพ้นจาก “ปฏิบัติการเช็กบิล” มาได้แบบหวุดหวิด ก็ด้วยความดีความชอบของผู้เป็นพ่อ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ที่กลับมาเปลี่ยนเกมในชั่วโมงสุดท้าย ด้วยความจำเป็นที่ในเรื่องคดีทุจริตสนามฟุตซอลที่ยังเป็นชนักปักหลังอยู่

หลังจากนี้จะต้องรอดูว่า “บิ๊กตู่” จะเดินเกมคุมอำนาจในพรรคพลังประชารัฐต่อไปอย่างไร เพราะถือเป็นนั่งร้านอำนาจที่สำคัญในเวทีสภา การจะฝากหน้าที่คุมเกมการเมืองในพรรคไว้กับ “พี่ใหญ่” เพียงคนเดียว อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์โค่นเก้าอี้นายกฯ​ ให้ได้เห็นกันอีก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนทางการเมืองครั้งสำคัญ ขณะเดียวกันก็จะต้องจับตาดูการเปลี่ยนเกมคุมเสียงพรรคเล็ก ให้อยู่ในอาณัติอย่างว่าง่าย ไม่ให้แตกแถวจนสร้างแรงเขย่าทางการเมืองได้อีก ดังนั้นคนที่จะขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน “ผู้กองธรรมนัส” อาจจะต้องเป็น “สายตรงบิ๊กตู่” มากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า หาก “บิ๊กตู่” หวังที่จะอยู่ยาวบนบัลลังก์อำนาจ จะต้องปรับบทบาทในทางการเมืองให้มากขึ้น โดยจะต้องสลัดภาพลักษณ์เดิม สวมบทบาทนักการเมืองแบบเต็มตัว

แม้งานนี้อาจจะทำให้ “บิ๊กตู่” สามารถคุมเกมการเมืองไว้ได้อยู่หมัด สร้างความแข็งแกร่งให้นั่งร้านอำนาจทางการเมืองให้มั่นคงมากกว่าเดิม แต่ก็ต้องแลกมาด้วย โอกาสในการเป็น “คนถือธงนำปฏิรูปการเมือง” เพราะเมื่อใดที่ “บิ๊กตู่” ต้องลงมาคลุกกับการเมือง ก็จะยิ่งถูกแรงดูดไปสู่หลุมดำประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และเมื่อนั้นก็คงเป็นการดับฝันปฏิรูปการเมืองไปโดยปริยาย

 ปิดท้ายกันด้วยเกมแก้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยเสียงเห็นชอบ 472 คะแนน โดยในจำนวนนี้มีเสียง ส.ว.เห็นชอบท่วมท้น 149 คะแนน เกิน 84 เสียงตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง ทั้งในเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเปลี่ยนแปลงสัดส่วน ส.ส. โดยกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

แน่นอนว่างานนี้ 2 พรรคใหญ่ ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย จะได้เปรียบในแง่ของกติกา แต่โจทย์นี้ยังคงท้าทายพรรคพลังประชารัฐในอนาคต โดยต้องยอมรับกันว่าตามประวัติศาสตร์ทางการเมืองแล้ว การสู้ศึกเลือกตั้งด้วยกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนี้ ทั้ง “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ ทักษิณ ชินวัตร และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างช่ำชอง และกวาดชัยชนะมาแทบทุกครั้ง ดังนั้นการเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบในครั้งนี้ อาจจะกลายเป็นการ “ปล่อยเสือเข้าป่า” แถมเป็นเสือที่มากด้วยประสบการณ์ในเกมการเมือง มากด้วยสายสัมพันธ์คอนเนกชั่นในแวดวงการเมือง ดังนั้นอาจจะนำไปสู่การพลิกเกมการเมืองหลังเลือกตั้ง

เพราะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเป็นเกมการชิงอำนาจระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคเพื่อไทย หรือหลังเลือกตั้งอาจจะเกิด “รัฐบาลสูตรไขว้” จากการจับมือกันของ 2 พรรคใหญ่ เพื่อพลิกเกมการเมืองก็เป็นได้

 แต่ความฝันเรื่อง “รัฐบาลสูตรไขว้” คงเกิดขึ้นได้ยากท่ามกลางความแตกแยกทางความคิดของคนแต่ละกลุ่มในสังคมเช่นนี้ ดังนั้นจะต้องรอดูว่า “บิ๊กตู่” มีแผนจะรับมือเกมการเมืองภายใต้กติกาใหม่อย่างไร ที่จะสามารถคุมเกมการเมืองให้กลับไปอยู่ในอุ้งมือ “กลุ่ม 3 ป.” อย่างเบ็ดเสร็จได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลมีเวลาพอที่ “บิ๊กตู่” จะใช้เป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการแก้ปัญหาบ้านเมือง รวมไปถึงการผลักดันเรื่องการปฏิรูปหลายๆ​ มิติให้เป็นรูปธรรมให้ประชาชนสามารถจับต้องได้ ทำในสิ่งที่ประชาชนคาดหวังว่าจะได้เห็น เพื่อฟื้นแรงศรัทธาจากประชาชนกลับมาอีกครั้ง 

ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญที่ “บิ๊กตู่” จะต้องฝ่าไปให้ได้ หากยังอยากอยู่ในตำแหน่งจนถึงการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง แต่หากทำได้ไม่ดีไปกว่า 7 ปีที่ผ่านมา ต่อให้นั่งร้านอำนาจแน่นหนาแค่ไหนก็คงไม่พอ!