สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี คนไทยได้อะไร? จากการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,306 คน สำรวจระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน 2564 พบว่า ประชาชนมองว่าจุดเด่นของการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือ เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้แสดงความคิดเห็น ร้อยละ 55.76 จุดด้อย คือ มีการใช้คำไม่สุภาพ โต้ตอบกันรุนแรง ร้อยละ 50.82 สิ่งที่ประชาชนได้รับ คือ ทำให้เห็นการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในสภา ร้อยละ 45.29 หลังการอภิปรายคิดว่าการเมืองไทยน่าจะเหมือนเดิม ร้อยละ 54.67 สิ่งที่อยากฝากบอกรัฐบาล คือ เร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ร้อยละ 74.31 และอยากให้ฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างจริงจัง ร้อยละ 63.79

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ถึงแม้จะไม่มีการยุบสภาดังเช่นในอดีต แต่ก็ทำให้เห็นท่าทีทางการเมืองของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะ “รอยร้าว” ที่มีอยู่ทั้งสองฝ่าย ประชาชนเองก็ได้รับรู้ข้อมูลจากการอภิปรายครั้งนี้ โดยมองว่าการเมืองไทยหลังจากนี้ก็ยังคงเหมือนเดิม จึงอยากให้รัฐบาลหันมาเร่งแก้ปัญหาปากท้องและเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง

จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนไทยค่อนข้างจะชินชาต่อการคงอยู่ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประชาชนมากกว่าครึ่งเห็นว่าการเมืองไทยน่าจะยังเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อีกนัยหนึ่ง คือ การสะท้อนว่าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลุดออกจากการเป็นรัฐบาลได้ เพราะอย่างไรก็ดี ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อนายกรัฐมนตรีก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบมากนัก อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลที่เผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต่างก็รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจแทบทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงข้อมูลหรือตอบข้อคำถาม ที่ประชาชนสงสัย ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถอธิบายให้คำตอบได้อย่างแจ่มชัด การนำเสนอข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ของฝ่ายค้าน จึงเปรียบเสมือนการฝังเมล็ดแห่งความคลางแคลงใจต่อการทำงานของรัฐบาลในใจของประชาชนเสียมากกว่า.