เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาว่าระหว่างนี้อยู่ในช่วง 15 วันก่อนที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ซึ่งครบกำหนดวันที่ 24 ก.ย. และตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ 1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะยื่นร่างต่อประธานรัฐสภา หลังจากประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว กับ 2.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่จะยกร่างและเสนอต่อประธานรัฐสภาก่อน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับในการแก้ไขมาตรา 91 เรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้นำความจากมาตรา 98 ตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มายกร่าง ที่กำหนดว่าการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้นโดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีบัญชีรายชื่อในบัญชีของแต่ละพรรคการเมือง ได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

นายไพบูลย์ ยกตัวอย่างเช่น หากคะแนนเสียงเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันมี 35 ล้านเสียง นำมาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จะได้คะแนนหารจำนวนสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค คือ 350,000 คะแนน คือ ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน หากพรรคได้ 7 แสนคะแนนจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน หากหารจำนวน ส.ส.กับคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองแล้วได้หารลงตัว 95 ส.ส.และเหลืออีก 5 คน ให้ดูพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 350,000 คะแนน โดยไล่เรียงจากพรรคที่ได้สูงสุดลดหลั่นกันไป ซึ่งวิธีคำนวณนี้ จะไม่มีพรรคใดได้ ส.ส.ปัดเศษ.