นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.ค. 66 มีมูลค่า 22,143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.2% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 764,444 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 11.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 842,842.7 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 78,398.7 ล้านบาท รวมการส่งออก 7 เดือนของปี 66 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 5.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,554,796.3 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 5,910,357.1 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 8,285.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 355,560.8 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การส่งออกเดือน ก.ค. 66 ที่ลดลง 6.2% เป็นการติดลบต่อเนื่อง 10 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 65

“การส่งออกเดือน ก.ค. ที่ติดลบ ส่วนหนึ่งเพราะฐานปีก่อนสูง แต่หากดูมูลค่า ก็ไม่ถือว่าแย่ เมื่อเทียบยอดเฉลี่ยการส่งออกของเดือน ก.ค. ก็เฉลี่ย 21,333 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเทียบกับประเทศอื่น ไทยดีกว่าหมด อย่าง อินโดนีเซีย ติดลบ 18% เกาหลีใต้ ลบ16.4% อินเดีย ลบ 15.9% มาเลเซีย ลบ 15.8% สิงคโปร์ ลบ 14.6% จีน ลบ 14.5% ไต้หวัน ลบ 10.4% ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเดินหน้าผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่เพื่อให้ถึงเป้าทำงาน 1-2% โดยถ้าจะไม่ให้การส่งออกติดลบ เดือนที่เหลือต้องส่งออกเฉลี่ย 24,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัว 0% แต่ถ้าเพิ่มเป็นเฉลี่ยเดือนละ 25,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัว 0.5% ถามว่ายากหรือไม่ ก็ต้องพยายาม”

สำหรับการส่งออกที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.6% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ลด 7.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 11.8% โดยสินค้าที่หดตัว เช่น ยางพารา ลด 37.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลด 12.9% น้ำตาลทราย ลด 30.3% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 7.7% ไก่แปรรูป ลด 11.4% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ลด 62.8% ส่วนสินค้าที่เพิ่มขึ้น เช่นข้าว เพิ่ม 18.8% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 17.8% ผักกระป๋องและผักแปรรูป เพิ่ม 17.2% นมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 27.9% ไข่ไก่สด เพิ่ม 92.9%

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 3.4% สินค้าสำคัญที่ลด เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด28.8% เครื่องคอมพิวเตอร์ อปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 24.2% ผลิตภัณฑ์ยาง ลด 6.2% ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ลด 24% ส่วนสินค้าที่เพิ่ม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เพิ่ม 24.6% เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 40.5% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เพิ่ม 82.9% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่ม 29.4% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 10.8% ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เพิ่ม 15.9%

นายกีรติกล่าวว่า การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือน ก.ค. 66 การค้ารวมมีมูลค่า 131,223 ล้านบาท ลด 15.51% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 75,426 ล้านบาท ลด 12.96% และนำเข้า มูลค่า 55,797 ล้านบาท ลด 18.74% เกินดุลการค้า 19,629 ล้านบาท โดยส่งออกชายแดน ไปมาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชา ลดลง แต่ส่งออกไป สปป.ลาว เพิ่ม และการส่งออกผ่านแดนไปจีน เพิ่มขึ้นแต่สิงคโปร์และเวียดนามลดลง ส่วนยอดรวม 7 เดือน การค้ารวม มูลค่า 1 ล้านล้านบาทลด 0.44% เป็นการส่งออก 593,347 ล้านบาท เพิ่ม 0.13% และนำเข้า 432,895 ล้านบาท ลด 1.22% เกินดุลการค้า 160,452 ล้านบาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ถ้าดูฐานปีที่แล้ว ไตรมาส 4 มีโอกาสที่การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไตรมาสที่ 4 ยังมีตัวแปรเยอะมาก แต่มองว่าเป็นบวกแน่ ส่วนยอดรวมทั้งปี เดิมสภา คาดว่าจะติดลบ 0.5% แต่หากประเมินตอนนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะลบมากกว่านี้ ถ้าเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว เศรษฐกิจคู่ค้าไม่เป็นใจ มีโอกาสที่จะติดลบ 1% ส่วนจะพลิกกลับมาเป็นบวก เป็นไปได้น้อย