สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ว่ากระทรวงการคลังอินเดียประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เก็บภาษีการส่งออกข้าวนึ่งในอัตรา 20% มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที จนถึงวันที่ 16 ต.ค. 2566 เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอาหารภายในประเทศ และเพื่อควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอินเดียเกิดขึ้น หลังการระงับส่งออกข้าวทั้งหมด ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เมื่อปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลให้กับทุกฝ่าย ว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะยิ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น
1. India has imposed a 20% export tax on parboiled rice until October 16, 2023, to ensure its food security.
— BFM News (@NewsBFM) August 26, 2023
The country has now implemented restrictions on all varieties of non-basmati rice, which constitutes about 25% of its total rice exports. https://t.co/oiF3pAVkEP pic.twitter.com/ydfvgDtZiy
ปัจจุบัน อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40% หรือ 55.4 ล้านตัน เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้รายใหญ่ของโลกอีกหลายชนิด รวมถึง หอมหัวใหญ่ ที่รัฐบาลนิวเดลีประกาศอัตราการเก็บภาษีส่งออก 40% จนถึงสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์เช่นกันว่า การใช้มาตรการลักษณะนี้อาจเป็น การหาเสียงทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล จากการที่รัฐขนาดใหญ่หลายแห่งของอินเดียมีกำหนดจัดการเลือกตั้งสภาแห่งรัฐ ช่วงปลายปีนี้ ตามด้วยการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะเกิดขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ต้องการรักษาตำแหน่งผู้นำรัฐบาล ให้ได้เป็นสมัยที่สามติดต่อกัน
อีกด้านหนึ่ง มีรายงานด้วยว่า เมียนมาซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก เตรียมระงับการส่งออกเป็นเวลา 45 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้ ซึ่งผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าการที่เมียนมาระงับการส่งออกในเวลานี้ จะยิ่งทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกแพงขึ้นอีก.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES