พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมตาดีกาสัมพันธ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2566 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมีเยาวชนจากศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และจังหวัดสตูล เข้าร่วมกว่า 2,000คน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นการส่งเสริมพหุวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งมลายู เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เราจะได้เห็นบรรยากาศดี ๆ แบบนี้ ที่ในพื้นที่อื่นของประเทศไทยไม่มี แต่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด ที่ได้นำต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีมูลค่าสูงสุด ทั้งการแต่งกายด้วยชุดมลายูถิ่น การใช้ภาษาไทย ภาษามลายู ธงชาติไทย พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย มาสื่อสารถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมในแผ่นดินใต้ เชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้ จะพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณธรรมตามหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ภาครัฐมีความจริงใจที่ต้องการสนับสนุนการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ของทุกเชื้อชาติ ศาสนา ให้คงอยู่ตามวิถีชีวิตเดิมอย่างไม่เลือกปฏิบัติ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่พิเศษที่มีภาษาหลากหลาย โดยเฉพาะภาษามลายูถิ่น หากคนในพื้นที่สามารถสื่อสารภาษามลายูได้ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิดและวัฒนธรรมของตนเอง และจะเป็นโอกาสมหาศาลในการดำรงชีวิตในภายภาคหน้าต่อไป

สำหรับมหกรรมตาดีกาสัมพันธ์ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 24 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2566 ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา ภายในงานมีกิจกรรมการประกวดขบวนพาเหรดแห่วัฒนธรรม ชุด “มาลายูท้องถิ่น” การแสดงเปิดงานฯ ปันจักสีลัต “สีลัตประยุกต์” จากโรงเรียนกีฬาจังหวัดยะลา ตลอดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาฟุตบอลชาย เซปักตะกร้อชาย และวอลเลย์บอลหญิง การประกวดการขับร้องอนาชีด การทดสอบการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่าน บรรยายธรรมและพรรณนาโวหาร การประกวดคัดลายมือภาษาอาหรับ เรียงความภาษามลายู และตอบปัญหาทางศาสนาด้วย ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้มีเวทีแสดงความสามารถ พัฒนาทักษะด้านวิชาการ ศาสนาและการกีฬา สามารถนำสิ่งที่ได้รับไปพัฒนาตนเองได้อย่างมีคุณภาพ ตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตนเอง เข้าใจในหลักศาสนาและวัฒนธรรม หมั่นพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ และพร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมีคุณธรรมของประเทศชาติต่อไป