สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่าสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารรัฐสภา ในเมืองปุตราจายา เมื่อวันจันทร์ เพื่อทรงเปิดการประชุมรัฐสภา ที่รัฐบาลอยู่ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการประชุมในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เกินขึ้นทุกวัน แต่จะดำเนินเรื่อยไปเป็นเวลา 17 วัน จนถึงวันที่ 12 ต.ค.นี้ ขณะที่วุฒิสภาจะประชุมระหว่างวันที่ 4-26 ต.ค.
นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารฉบับหนึ่ง แด่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์
ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีพระราชทานพระราชดำรัสในตอนหนึ่ง ขอให้รัฐบาลเพิ่มความพยายามมากขึ้นอีกเท่าตัว ในการนำพาบ้านเมืองฝ่าฟันวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 โดยขอให้มีเป้าหมายชัดเจนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่าย ว่าแผนยุทธศาสตร์ 100 วันจะประสบผลสำเร็จ
ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงขอให้ "ทุกภาคส่วน" ร่วมกันหาทางออกจากปัญหา และคลี่คลายความขัดแย้งด้วยวิถีทางตามครรลองของประชาธิปไตย อย่าใช้บ้านเมืองและประชาชน "เป็นเครื่องมือต่อรองผลประโยชน์ส่วนตน"
ปัจจุบันรัฐบาลของอิสมาอิล ซาบรี มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร 114 จาก 222 เสียง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและพันธมิตรฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของนายอันวาร์ อิบราฮิม ลงนามร่วมกันในข้อตกลงว่าด้วย "การริเริ่มการเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูป" เพื่อการันตีเสถียรภาพทางการเมืองของมาเลเซีย ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรวมถึงการให้สมาชิกฝ่ายค้านร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมาธิการฟื้นฟูประเทศ การลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จาก 21 ปี ลงมาอยู่ที่ 18 ปี การให้ผู้นำฝ่ายค้านได้รับสวัสดิการเทียบเท่ารัฐมนตรี การจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีให้อยู่ที่สูงสุด 2 สมัย คือไม่เกิน 10 ปี และการป้องกันนักการเมือง "งูเห่า" 
การลงนามในข้อตกลงดังกล่าวน่าจะช่วยให้รัฐบาลผ่านการอภิปราย และลงมติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งการอภิปรายและลงมติต้องอยู่ในช่วงของการประชุมสภา แต่ยังไม่มีการระบุกำหนดการชัดเจน
อนึ่ง การเมืองภายในมาเลเซียวุ่นวายและขาดเสถียรภาพ นับตั้งแต่พรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ ( อัมโน ) พรรคการเมืองขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศ "พ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์" ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 และต้องพ้นจากการผูกขาดการเป็นแกนนำรัฐบาลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มาเลเซียเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2500 โดยก่อนหน้าอิสมาอิล ซาบรี มาเลเซียมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คน คือ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด และนายมูห์ยิดดิน ยาสซิน.

เครดิตภาพ : AP