นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอรายละเอียดของพื้นที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนา และบริหารจัดการพื้นที่ในเขตทางพิเศษอย่างเหมาะสมต่อไป โดยมีกลุ่มนักลงทุน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พันธมิตรทางธุรกิจของ กทพ. เข้าร่วมประชุม และแสดงความสนใจกันอย่างมาก

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า การก่อสร้างทางพิเศษส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับเกือบทั้งหมด ทำให้มีพื้นที่ใต้ทางยกระดับตลอดแนว และเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษอย่างเหมาะสม และคุ้มค่า กทพ. จึงได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ และใช้ระบบภูมิสารสนเทศเก็บข้อมูล และจำแนกการใช้พื้นที่ โดยครอบคลุมที่ดินของหน่วยงานอื่นๆ พื้นที่ใช้ประโยชน์ และพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่ศักยภาพที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 25 พื้นที่ ทั้งแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ศักยภาพในเมือง พื้นที่ศักยภาพชานเมือง และพื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า กทพ. คาดว่าภายในปี 67 กทพ. จะสามารถเปิดประมูลพื้นที่บริเวณในเมืองที่มีความพร้อม ไม่ติดสัญญา และมีศักยภาพได้ก่อน 17 พื้นที่ 530 แปลง อาทิ สีลม, เพลินจิต, วัชรพล และอโศก โดยรูปแบบการลงทุนมีหลายรูปแบบ อาทิ การเปิดประมูลเช่าพื้นที่ สัญญาสัมปทาน 3 ปี และการเปิดประมูลในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) สัญญาสัมปทาน 5-20 ปี ระยะเวลาการคืนทุน 3-4 ปี ทั้งนี้การประมูลทุกโครงการ กทพ. มีเงื่อนไขว่า การก่อสร้างต้องไม่กระทบต่อทรัพย์สินของ กทพ. คาดว่าทั้ง 17 พื้นที่ จะเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 70

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า กทพ. มีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 3,000 ไร่ ปัจจุบันได้นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว 37% และใช้เชิงพาณิชย์ 9% จึงยังมีพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาได้อีกมากกว่า 53 % โดย กทพ. มีเป้าหมายการนำพื้นที่ศักยภาพมาดำเนินการพัฒนา เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ควบคู่สาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี

สำหรับพื้นที่ศักยภาพที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ 25 พื้นที่ มีขนาดพื้นที่ 338 ไร่ 1,144 แปลง โดยเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนา 17 พื้นที่ ประมาณ 530 แปลง ส่วนพื้นที่ที่ยังมีผู้เช่ารายย่อย 8 พื้นที่ 614 แปลง พร้อมที่จะพัฒนาภายในปี 70-71 ทั้งนี้ 25 พื้นที่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพื้นที่ศักยภาพในเมือง 7 พื้นที่ ขนาดพื้นที่ 3-10 ไร่ รวม 385 แปลง ประกอบด้วย 1. พื้นที่ในเขตทางพิเศษถนนสีลม 2.สำนักงานอโศก 3.สุขาภิบาล 5 4. หัวถนนรามอินทรา 5.บริเวณถนนสุขุมวิท (เพลินจิต) 6.อนุสาวรีย์ชัยฯ 7.ปากซอยวัชรพล

2.กลุ่มพื้นที่ชานเมือง 8 พื้นที่ ขนาดพื้นที่ 3-200 ไร่ รวม 547 แปลง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ในเขตทางพิเศษบริเวณศรีสมาน 2.จุดตัดถนนเทพรักษ์ด้านทิศใต้ 3.จุดตัดถนนเทพารักษ์ด้านทิศใต้ 4.จุดตัดถนนศรีนครินทร์ด้านทิศใต้ 5.บริเวณ กม.16 6.พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ 7.จตุโชติ-วงแหวนรอบนอกฯ และ 8.ต่างระดับบางปะอิน และ 3. กลุ่มพื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station 10 พื้นที่ ขนาดพื้นที่ 60-2,200 ตร.ว. 212 แปลง

ประกอบด้วย 1.พระราม 6 ซอย 20 2.หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางรามคำแหง 3.งามวงศ์วาน 21 4.พระราม 9-อโศก 5.หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางสุรวงศ์ 6.จุดกลับรถเซ็นทรัลพระราม 3 7.งามวงศ์วาน 23 8.บริเวณหลังด้านคลองประปา 9.จุดกลับรถลาดพร้าวทาวน์อินทาวน์ และ 10.บริเวณถนนวัชรพลใต้ทางพิเศษฉลองรัช อย่างไรก็ตามพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ สามารถพัฒนาได้หลากหลายขึ้นอยู่กับพื้นที่ อาทิ จุดพักรถ (Rest Area), ปั๊มน้ำมัน, สถานีชาร์จไฟ, จุดจอดรถ และศูนย์การค้าขนาดย่อม (Community Mall) เป็นต้น