เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์เฟซบุ๊ก นัดจัดคาร์ม็อบวันที่ 19 ก.ย. เวลา 14.00 น. ที่แยกอโศกมนตรี เพื่อเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบครั้งประวัติศาสตร์ เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร ทุกอย่างเริ่มต้นและจบลงโดยสันติวิธี ไม่บวก ไม่ลุย ไม่ปะทะแต่เราจะขับรถยนต์ชนรถถัง พร้อมระบุว่าวันที่ 19 ก.ย. 2564 ครบรอบ 15 ปี การยึดอำนาจโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จากนั้นเกิดการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเป้าหมายเดียวกัน ต้องการให้อำนาจนอกระบบมีอิทธิพลเหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน วิกฤติความขัดแย้ง สังคมที่แตกแยก ล้วนเกิดขึ้นภายใต้เป้าหมายทางอำนาจของขบวนการนี้

นายณัฐวุฒิ ระบุต่อว่า เชื้อไฟของการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง เกิดจากกลุ่มประชาชนก่อตัวกันชุมนุมขับไล่รัฐบาล สนธิ ลิ้มทองกุล ไล่รัฐบาลทักษิณ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการชุมนุมเรียกร้องกดดันกลายเป็นกระแสสูง จนในที่สุดรัฐบาลทั้ง 2 ชุด ตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน หลังการยุบสภาทั้ง 2 ครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำฝ่ายค้านประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง ไม่ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กระบวนการจัดการเลือกตั้งยังคงเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางการขัดขวางทั้งของกลุ่มผู้ชุมนุม และพรรคการเมืองที่ไม่ลงเลือกตั้ง

นายณัฐวุฒิ ระบุอีกว่า มีการขัดขวางการรับสมัคร ขัดขวางการลงคะแนน จนในที่สุดกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์มีคนไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้ง 2 ครั้ง ทั้ง 2 กลุ่มผู้ชุมนุมจงใจเสนอข้อเรียกร้องที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถปฏิบัติได้ กลุ่มพันธมิตร ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เรียกร้องนายกพระราชทานตามมาตรา 7 กลุ่มนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กปปส. เรียกร้องการปฏิรูปประเทศ และนายกรัฐมนตรี คนกลางจากการเสนอชื่อของประธานวุฒิสภา

นายณัฐวุฒิ ระบุต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คน ถูกกดดันให้ลาออกจากการรักษาการหลังยุบสภาไปแล้วเมื่อมีการชุมนุมกดดันต่อเนื่อง องค์กรและเครือข่ายทางสังคมทั้งหลายซึ่งเป็นพวกเดียวกัน ต่างแสดงตัวสนับสนุนการชุมนุม ภายใต้ข้อเรียกร้องที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ถึงที่สุดก็เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.2549 และ 22 พ.ค. 2557 หลังรัฐประหาร พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เชิญ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับภายใต้แผนบันได 4 ขั้นของ คมช. ปฏิเสธการมีอำนาจของพรรคไทยรักไทย แต่ด้วยระยะเวลาที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ อยู่เพียงปีเศษ และกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2550 พรรคประชาธิปัตย์ยังคงพ่ายแพ้พรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้ง รัฐประหาร 2549 จึงถูกเรียกว่า “รัฐประหารเสียของ”

นายณัฐวุฒิ ระบุต่อว่า คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จึงทำซ้ำไม่ให้เสียของ แต่บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเสียชีวิตพินาศวอดวายในปัจจุบัน และตลอดเวลา 15 ปีนายทหาร 3 ป. กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง 2549 พล.อ.ประวิตร เป็นอดีตผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกำลังสำคัญรัฐประหารหลังจากนั้นคนกลุ่มนี้เป็น ผบ.ทบ.ต่อเนื่องกัน มีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีการปราบปรามประชาชน จนบาดเจ็บล้มตายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และสมคบคิดกับขบวนการ กปปส. จนยึดอำนาจปี 2557 คสช. อยู่ยาว 5 ปี มีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาให้มีนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ์ เท่านั้น และครองอำนาจยาวนาน โดยมี ส.ว. ลากตั้ง 250 คน เป็นหลักประกันที่จะอยู่ต่อไป

นายณัฐวุฒิ ระบุต่อไปว่า ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่พวกเขาทำตามอำเภอใจ และมันเกิดขึ้นได้เพราะเขาไม่เห็นหัวประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน แน่นอนว่าอาจจะมีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยแต่ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและไม่ต้องการสิ่งนี้ ตลอดเวลาจึงมีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของผู้คนหลากหลาย และในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จึงขอเชิญพี่น้องทุกคนทุกกลุ่มแสดงพลังร่วมกันอีกครั้ง หลังรัฐประหาร 19 กันยา “นวมทอง ไพรวัลย์” คนขับแท็กซี่ธรรมดา ขับแท็กซี่คู่ชีพพุ่งชนรถถังต้านรัฐประหาร ถ้าวันนี้รูปแบบคาร์ม็อบตอบโจทย์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในสถานการณ์โรคระบาด “นวมทอง ไพรวัลย์” ถือเป็นจิตวิญญาณผู้เริ่มต้นคาร์ม็อบในประเทศไทย

“พบกันวันที่ 19 ก.ย. 2564 14.00 น. ที่แยกอโศก เคลื่อนขบวนคาร์ม็อบครั้งประวัติศาสตร์พร้อมกันทั่วกทม. ตลอดขบวนมีสัญลักษณ์แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันทุกคันรถ ตลอดเส้นทางมีไฮไลต์เรื่องราวการต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย วันเคลื่อนขบวนจะมีพี่น้องแท็กซี่ร่วม อุดมการณ์ไปกับเราทุกอย่างเริ่มต้นและจบลงโดยสันติวิธี…ช่วยกันทำให้ตลอดสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” นายณัฐวุฒิ กล่าว.