เมื่อวันที่ 14 ก.ย. พรรคเพื่อไทย (พท.) จัดเสวนาในหัวข้อ  “จนมุมกลางสภา แล้วยังกล้าไปต่ออีกหรือ?” โดยมีนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เข้าร่วมการเสวนา

โดยนายสุทิน กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แม้จะไม่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ลาออกจากตำแหน่งทันที หากเปรียบเทียบเหมือนคนป่วยคือตายคาที่ เพราะมีเสียงสนับสนุนยกมือโหวตในสภาฯ แต่เชื่อว่าจะตายระหว่างทางส่งโรงพยาบาลแน่นอน คล้ายกับกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีในปี 35 กรณีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 หรือนโยบายปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมมอบให้เกษตรกร ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุดท้ายนายชวนประกาศยุบสภาฯ และอีกกรณีคือ สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีการทุจริตธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี เมื่อปี 39 จนทำให้รัฐมนตรีหลายคนลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา ซึ่งทั้งสองกรณีเรียกว่าจนมุมในสภาฯ แม้จะไม่ยุบสภาทันที แต่ทนเสียงกดดันของประชาชนไม่ไหว ประกาศลาออกและยุบสภาฯในเวลาต่อมา

นายสุทิน กล่าวว่า การทำงานของฝ่ายค้านยุคใหม่ค่อนข้างยาก เนื่องจากการสื่อสารในปัจจุบันมีความรวดเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องมีเซอร์ไพรส์ พรรค พท. บอกข้อสอบให้หมดว่าจะอภิปรายในหัวข้ออะไรบ้าง แต่สุดท้ายฝ่ายรัฐบาลก็ไม่สามารถตอบคำถามได้  พล.อ.ประยุทธ์ เป็นโรคแพ้ไม่เป็น แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีการกระทำการส่อทุจริตที่อาคารรัฐสภาชั้น 3 และออกมาปฏิเสธในภายหลัง แต่พรรค พท. รู้ดีว่าในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะยกมือโหวตแบบผิดๆ เมื่อถูกจับผิดได้  จึงปลดร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรมช.เเรงงาน เป็นการนำวิธีทางทหารมาตัดสินทางการเมือง ปลดผู้อื่นเพื่อสังเวยความผิด เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ ทำให้เกิดความปั่นป่วนภายในพรรค และเชื่อว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อค จะมีการปลดคนในพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มอีกแน่นอน และในที่สุดจะสะดุดขาตัวเองล้มลง เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมฝ่ายค้าน กระทบกับการบริหารประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่ ทั้งที่ประเทศอ่อนแอต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯต่อไปได้ แต่จะความเชื่อมั่นจะตกต่ำ เปรียบเหมือนเป็ดง่อย และคนซวยคือประชาชน 

ด้านนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อมูลทุกด้านที่พรรค พท. และพรรคร่วมฝ่ายค้านอภิปรายในสภาจะถูกรวบรวมและนำไปสู่การตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกระบวนการยุติธรรมต่อไป ตนมั่นใจว่าคนป่วยที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์  จะไม่ตายก่อนถึงรพ. แต่จะถึงรพ.พอดีกับช่วงที่มีการโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต.ค.นี้ 

ขณะที่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย (จีดีพี) ติดลบติดต่อกัน 2 ปี  ถือว่าผิดปกติ  สวนทางกับโลกที่เริ่มฟื้นตัว ที่เป็นแบบนี้เพราะประเทศไทยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ บริหารประเทศผิดพลาด แต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความรู้ในการบริหาร ประเทศอาจถึงจุดทางตันทางเศรษฐกิจ แม้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคร่วมฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรค พท. ได้เปิดข้อมูลความล้มเหลวในการบริหารหลายด้าน  แต่การตอบคำถามของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกลับออกมาปัดความรับผิดชอบและยังยืนยันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังดีอยู่  ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการแก้ไขปัญหาหากจะสำเร็จได้  สิงแรกที่ต้องทำคือการยอมรับปัญหา เมื่อรัฐบาลไม่เห็นว่ามันเกิดปัญหา จึงไม่แสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา ฝ่ายค้านได้พยายามทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชนด้วยการต่อสู้ตามระบบสภาและร่วมกันอภิปรายอย่างมีความหวัง แต่น่าเสียดายที่สู้ไม่ไหว

“สุดท้ายพี่น้อง 3 ป.ก็กลับมารักกัน ป.ที่ 4 คือประชาชน ก็คงต้องอกหักต่อไป แต่พรรค พท. ยังยึดมั่นทำเพื่อพี่น้องประชาชน เราจะพาประเทศที่ดีกลับคืนมาให้ได้ และเชื่อว่าวันหนึ่งเสียงของประชาชนจะชนะ” นายจุลพันธ์ กล่าว  

ทางด้าน น.ส.จิราพร กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของพลเอกประยุทธ์ ที่สร้างความล้มเหลว  ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม จนไม่เห็นทางจะฟื้นฟูได้ และฝ่ายรัฐบาลยังมี 4 พฤติกรรม ที่ตอบคำถามไม่ชัดเจน ได้แก่  1.ตอบก่อนถาม 2.ตอบแบบไร้ภูมิปัญญา 3.ตอบไม่ตรงคำถาม และ 4.ไม่ตอบเลย ซึ่งรัฐบาลไม่ตอบคำถามให้คลายความสงสัยหลายด้าน เช่น พรรคเพื่อไทยตั้งคำถามและถามหาหลักฐานการโอนเงินจัดซื้อซิโนแวค 17 เหรียญ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าประเทศอื่น แม้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข จะออกมาตอบภายหลังว่า ราคา 17 เหรียญนั้น เป็นการตั้งราคาเผื่อเบิกจ่าย หากเหลือค่อยส่งคืนคลัง และไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นการตอบไม่ตรงคำถาม  เพราะเราต้องการหลักฐานการโอนเงินที่กรมควบคุมโรคโอนให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และหลักฐานการโอนที่ อภ.โอนให้บริษัทซิโนแวค ไม่ได้ต้องการสัญญาซื้อขาย จากนั้นต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ ยังออกมาตอบคำถามที่ไม่ตรงกับคำตอบของนายอนุทิน ก่อนหน้านี้ โดยตอบว่าราคาวัคซีนซิโนแวค 17 เหรียญนั้นเป็นราคาที่ตั้งไว้รวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ 

“ฝ่ายค้านได้เปิดแผลและรวบรวมเป็นหลักฐานพร้อมยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งการกระทำของรัฐบาลจะเป็นข้อมูลชั้นดีให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ครั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมือในสภาฯ แต่เลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่สามารถฝ่าด่านศรัทธาประชาชนได้ สภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ คือสินค้าหมดอายุ รอวันย่อยสลาย แม้ครั้งล่าสุดจะชนะในสภาไปแบบทุลักทุเล แต่จะไม่สามารถฝ่าด่านประชาชนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกแน่นอน” น.ส.จิราพร กล่าว.