เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “มาตรการ Sandbox ในโรงเรียน sandbox safety zone in school” ว่า จากข้อมูลการติดเชื้อในเด็กวัยเรียนวัยรุ่น 6-18 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564-11 ก.ย. 2564 ติดเชื้อสะสม 129,165 ราย กว่า 90% เป็นคนไทย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่ มีโรคประจำตัว ทั้งนี้เมื่อเมื่อดูรายเดือนพบว่า เม.ย.ติดเชื้อ 2,426 ราย พ.ค. ติดเชื้อ 6,432 ราย มิ.ย. ติดเชื้อ 6,023 ราย ก.ค. ติดเชื้อ 31,377 ราย และ ส.ค.ติดเชื้อ 69,628 ราย ถือว่ามีแนวโน้มติดเชื้อมากขึ้นแม้ว่าจะไม้ได้เปิดเรียนก็ตาม โดยส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัวและการเดินทางสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน ส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูล 5 ก.ย. ฉีดแล้ว 897,423 ราย คิดเป็น 88.3% ยังไม่ได้ฉีด 118,889 ราย คิดเป็น 11.7% ส่วนกลุ่มเด็ก 12-18 ปี ซึ่งมีการฉีดในคนที่มีโรคประจำตัวนั้น ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม1 จำนวน 74,932 ราย เข็ม 2 จำนวน 3,241 ราย

ทั้งนี้จากการนำร่องเปิดเรียน on site ในโรงเรียนประจำ เพื่อปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่ตั้งไว้ พบว่า เป็นไปอย่างดี โรงเรียนแม้พบผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของโรงเรียน แต่ไปสัมผัสคนติดเชื้อนอกโรงเรียน และตรวจจับได้ ดังนั้นจึงมีการหารือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยถึงแนวทางเตรียมการจัด sandbox safety zone in school เพื่อรองรับการเปิดเรียนให้สอดรับกับสถานการณ์ในพื้นที่ และแนวทางของ ศบค. ดังนี้

1. พื้นที่สีเขียว มี 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มข้นของสถานศึกษา โดยบุคลากร นักเรียนได้รับวัคซีนไม่น้อยกว่า 85% มีการประเมินความเสี่ยงอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

2.พื้นที่สีเหลืองมาตรการคงตามพื้นที่สีเขียว แต่เพิ่มการสุ่มเฝ้าระวังด้วยการตรวจ ATK 1 ครั้ง ใน 14 วัน ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์

3.พื้นที่สีส้ม ต้องปฏิบัติตามข้อ 1 2 และจะเพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลถี่ขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์  

4. พื้นที่สีแดง ต้องปฏิบัติตามข้อ 1-2 และเพิ่มมาตรการเข้ามาอีก 3 ข้อ คือ ให้สถานประกอบกิจการ กิจกรรมรอบสถานศึกษาระยะ 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน covid free setting ต้องจัด school pass ครูและนักเรียน มีการประเมินตนเอง 3 วันต่อสัปดาห์ หรือประวัติการได้รับวัคซีน หรือประวัติที่เคยติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน และต้องจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่ให้แออัด ไม่เกิน 25 คน ต่อขนาดห้องเรียนปกติ ส่วนการตรวจ ATK 1-2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนนั้นนักเรียนจะได้รับเพิ่มขึ้นตามมาตรการของกรมควบคุมโรค

5. พื้นที่สีแดงเข้ม ต้องทำมาตรการทั้งหมดให้ครบถ้วน ต้องตรวจ ATK 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และการประเมินความเสี่ยงบุคคลต้องทำทุกวัน ทั้งครู นักเรียน บุคลากร  

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับ 7 มาตรการเข้มข้นของสถานศึกษา กรณีโรงเรียนไป-กลับ คือ 1. สถานศึกษาประเมินความพร้อมในการเปิดเรียนผ่าน Thai stop covid plus และรายงาน ติดตามผลผ่าน MOECOVID ของกระทรวงศึกษาฯ 2. ทำกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ พยายามไม่ให้สัมผัสข้ามกลุ่ม 3. อาหารเน้นสุขาภิบาลอาหาร 3.การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐาน เพราะหลายกรณีที่พบติดเชื้อในโรงเรียนเกิดจากความแออัดให้องเรียนโดยเฉพาะป้องปรับอากาศ 5. จัด School Isolation และมีแผนเผชิญเหตุโดยร่วมกับสาธารณสุขในพื้นที่ มีการซักซ้อมด้วย 6.ควบคุมการเดินทางจากบ้าน–โรงเรียนให้ปลอดภัย 7. จัด School Pass ทั้งครูและนักเรียน ที่ต้องมีผลการประเมินความเสี่ยงบุคคล ผลการตรวจ ATK หรือประวัติการได้รับวัคซีน หรือประวัติที่เคยติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน ส่วนโรงเรียนประจำพบติดเชื้อเพราะไม่ปฏิบัติตามมาตรการโรงเรียนประจำ ครูไป-กลับ แต่ไม่คัดกรองความเสี่ยง ไม่มีระบบ sandbox safety zone in school และเข้มข้นการควบคุมในหอพักเพราะพบว่ามีความแออัด  

“การเปิดเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ต่อนักเรียนด้วยกัน ปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม และมีหลายกิจกรรมที่ไม่สามารถให้เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสมบูรณ์ แต่เมื่อเปิดเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้การเปิดเรียนมีความปลอดภัยต่อนักเรียน และคนที่บ้าน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว  

เมื่อถามถึงเรื่องการสนับสนุนชุดตรวจ ATK นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า มีการสนับสนุน 2 ส่วน 1. โดยภาพรวม สปสช.ได้จัด ATK 8.5 ล้านชุดกระจายไปยังจังหวัด ผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขเตรียมความพร้อมร่วมกับโรงเรียน วางมาตรการก่อนเปิดเรียน ครู นักเรียนที่เสี่ยงก็สามารถรับ ATK ได้ 2.พื้นที่ร่วมกันจัดหา เช่น มีการหารือร่วมกันของคณะกรรมการโรงเรียน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนสุขภาพพื้นที่ ในการนำงบฯ มาสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกันของ โรงเรียน ท้องถิ่น ผู้ปกครอง

นพ.สุวรรณชัย กล่าย้ำว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดพบเรื่องน่ายินดีคืออัตราการติดเชื้อต่อวันมีสัญญาณแนวโน้มลดลงอย่างช้าๆ แต่ยังพบการระบาดเป็นจุดในที่ที่มีคนรวมกลุ่มกัน และสถานการณ์ตอนนี้เริ่มมีการผ่อนกลายกิจการ ก็จะมีผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกันจากการไปพื้นที่เสี่ยงมากขึ้น แต่รัฐบาลกำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกับโควิด ดังนั้นหากเราจำเป็นต้องกลับสู่การมีกิจกรรมที่เป็นปกติ เราต้องพึงระลึกว่าต้องปฏิบัติตนแบบนิวนอร์มัล หัวใจสำคัญคือป้องกันตัวเองครอบจักรวาล เชื่อว่าแม้จะมีการระบาด แต่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม.