นายสิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานองค์กรกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า ซัมซุงได้บุกเบิกตลาดสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้ ผ่านการเปิดตัว กาแลคซี่  โฟลด์ ตั้งแต่ปี 62 ซึ่งบริษัทวิจัยข้อมูล ได้วิเคราะห์ว่าตัวเลขตลาดสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้จะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ภายในสิ้นปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรืออัตราการเติบโตต่อปี อยู่ที่ประมาณ 113% และยอดขายจะพุ่งสูงถึง 64 ล้านเครื่อง ทั่วโลกภายในปี 68

“ซัมซุงครองความเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้ตลอด 3 ปีซ้อน ซึ่งจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และความมุ่งมั่นในการนำเสนอนวัตกรรมล่าสุดให้กับผู้บริโภคทำให้สมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้ในเจเนอเรชันล่าสุดของซัมซุง อย่าง กาแลคซี่ ซีโฟลด์3 และ ฟลิป 3 5จี ประสบความสำเร็จเป็นประวัติการณ์ด้วยยอดจองทั่วโลก ทั้งในเกาหลีใต้ อเมริกา และยุโรป เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าเป็นอย่างมาก รวมถึงในประเทศไทยที่ล่าสุดตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่า เมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้า ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วยเช่นกัน” นายสิทธิโชค กล่าว

นายสิทธิโชค กล่าวต่อว่า ซัมซุงยังได้เปลี่ยนกลยุทธ์การทำการตลาดและการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ จัดสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้ไว้ในหมวดหมู่ลักชัวรีเซกเมนต์ และทำการสื่อสารกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม มาเป็นการทำการตลาดในรูปแบบ ‘คัลเจอร์เรอร์ คูล’ เพื่อสร้างความใกล้ชิด กับผู้บริโภคในวงกว้าง อาทิ การดึงศิลปินไอดอลเกาหลีวง บีทีเอส ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกมาเป็น แบรนด์แอมบาสเดอร์ พร้อมทำมิวสิกวิดีโอพิเศษเพื่อการเปิดตัวโดยเฉพาะ หรือการพาร์ทเนอร์กับอินฟลูเอนเซอร์ ในไทยให้ มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้ในแบบของตนเอง ด้วยเป้าหมายที่จะให้ สมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้กลายเป็นสมาร์ทโฟนกระแสหลักมากกว่าเดิม

“ผลจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำการตลาดและการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้มีอัตราการเปลี่ยนแบรนด์ เพื่อมาใช้ซัมซุงเพิ่มขึ้นถึง 10% จากอัตราลูกค้าใหม่ที่เปลี่ยนแบรนด์โดยปกติที่ 20% แต่เมื่อเป็นช่วงเวลา การเปิดตัวสมาร์ทโฟนหน้าจอพับได้กลับสูงถึง 30%” นายสิทธิโชค กล่าว

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีแรกของ 64 ซัมซุงได้ทำการสำรวจตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทย และค้นพบว่าตลาดอยู่ในภาวะทรงตัว ขณะเดียวกับที่ตัวเลขของสมาร์ทโฟนในกลุ่มพรีเมียมเซกเมนต์กลับสวนทางตลาด ด้วยอัตราการเติบโตเชิงมูลค่าที่เพิ่มขึ้นถึง 11% ในขณะที่อัตราการเติบโตเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยพร้อมที่จะซื้อผลิตภัณฑ์พรีเมียม หากผลิตภัณฑ์นั้นมีนวัตกรรมที่ดีและตรงกับความต้องการของพวกเขา.