นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง มี 23 สถานี ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้า 82.93% แบ่งเป็น งานโยธา 86.08% และ งานระบบรถ 78.81% มีอาคารจอดแล้วจรตั้งอยู่ที่สถานีศรีเอี่ยม (YL 17) ถนนศรีนครินทร์ ส่วนสายสีชมพู มี 30 สถานี มีความหน้าคืบหน้า 80.12% แบ่งเป็น งานโยธา 81.58% และงานระบบรถ 77.78% มีอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่สถานีมีนบุรี (PK 30)

นายกิตติพันธ์ กล่าวต่อว่า ขร. ได้เสนอให้ก่อสร้างสกายวอล์ก เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการเดินเท้าบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ อาทิ สายสีเหลือง สถานีสำโรงเชื่อมไปยังสายสีเขียว สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมไปรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีหัวหมาก สายสีชมพู สถานีมีนบุรี (PK 30) เชื่อมไปยังสายสีส้ม สถานีมีนบุรี เป็นต้น รวมถึงป้ายบอกทางสำหรับการเข้าใช้บริการจุดจอดแล้วจร และการดำเนินงานด้านอื่นๆ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง เพื่อร่วมกันบูรณาการในการพัฒนาทั้ง 2 โครงการให้มีความพร้อมในการบริการประชาชนต่อไป

ด้านนายกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะรองผู้อำนวยการโครงการด้านบริหารงานก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว–สำโรง กล่าวว่า รฟม. ได้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งในส่วนของงานก่อสร้างงานโยธา งานติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 65 เพื่อส่งมอบทางเลือกในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้แก่ประชาชน พร้อมทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder Line) เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลักสายต่างๆ

โดยในระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ รฟม. ยังได้มีการประกาศนโยบายการก่อสร้างปลอดภัย 100% เพื่อให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และผู้รับสัมปทาน รับไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้วยจิตสำนึกความปลอดภัยทั้งต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน และผู้สัญจรผ่านโดยรอบ รวมถึงการผลักดันนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ลงมาสู่กระบวนการดำเนินงานหลักขององค์กร อาทิ การกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรสำหรับโครงการฯ การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในแนวสายทาง การจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเร่งแก้ไขบรรเทาสถานการณ์โดยเร็ว ฯลฯ ตลอดจนการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อดูแลชุมชนตามแนวสายทางที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง.