ในงานสัมมนาในหัวข้อ Pre Top Form พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต ซึ่งจัดโดย เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและประชาชน มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นอกจากผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้จะได้รับฟังการบรรยายพิเศษ จากนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในหัวข้อ “จับตา พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต และการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน” โดยบอกว่า ข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2565 เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยมีมูลค่า 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.81% ของขนาดเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศ

แน่นอนว่า ภาคเกษตรนั้นนับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมีพืชสำคัญๆ ที่นับว่าจับตามอง และถือเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต เช่น ไผ่ ถั่วเหลือง โกโก้ กัญชา และสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพร ซึ่งรวมไปถึงกัญชานั้นตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าของตลาดโลก กว่าปีละ 370,000 ล้านบาท เป็นได้ทั้งพืชอาหาร ความงาม และทางการแพทย์ และมีนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าที่หลากหลาย

นายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers กล่าวบนเวที สัมมนา Pre Top Form พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต ในหัวข้อ ‘ล้วงลึก เทคนิค เกษตรกรมือฉมัง’ โดยสรุปว่า ภาครัฐควรหันมาสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ และมูลค่าทางการตลาดอย่างจริงจัง เพราะจากการศึกษาที่ได้รับ ประเทศในเอเชีย ทั้งไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความพยายามในการส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกกัญชาทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers ที่มีประสบการณ์ที่ดีต่อกัญชาในฐานะยารักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง จึงอยากสนับสนับสนุน ผลักดัน และพัฒนาการปลูกกัญชาทางการแพทย์ของไทยให้ได้มาตรฐาน โดยกฎหมายต้องมีความชัดเจน

“หลายประเทศมีการดำเนินนโยบายกัญชาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย บางประเทศอนุญาตเฉพาะการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งไทยมีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่อยากให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ซึ่งผมสนับสนุนเป็นอย่างมาก จึงมีการเปิดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ ในหัวข้อ ”ปลูกกัญชา กัญชง ให้ถูกกฎหมายและได้ประสิทธิภาพ” มีผู้เข้าอบรมกว่า 2,000 คน จำนวนทั้งหมด 72 รุ่น จากความเชี่ยวชาญจึงได้ต่อยอดสู่ Premier Smart Farm ฟาร์มกัญชาทางการแพทย์มาตรฐาน GACP ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจว่าเราได้รับการตรวจรับรองจากบริษัท SGS โดยผู้ตรวจประเมิน (Auditor) จากประเทศโคลัมเบีย และประเทศไทย ให้เป็นฟาร์มกัญชาแห่งแรกของเอเชีย และประเทศไทยที่ได้รับการตรวจรับรองจากบริษัท SGS โดยผ่านข้อกำหนดทั้ง 177 ข้อ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตกัญชา-กัญชงทางการแพทย์ที่มีมาตรฐาน”

ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers ยังกล่าวย้ำว่า ประเทศไทยนั้น มีแนวนโยบายที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์และการวิจัย โดยรูปแบบยากัญชาในประเทศไทยมี 2 แบบ ได้แก่ ยาแผนปัจจุบันและยาแผนไทย ส่งผลให้การพัฒนายากัญชาที่เป็นตำรับแผนไทยทำได้ง่ายขึ้น และยังสามารถเพิ่มมูลค่าของกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ได้ ประกอบด้วย 1) ต้นน้ำ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์และการเพาะปลูก 2) กลางน้ำ ได้แก่ การสกัดและการแปรรูป 3) ปลายน้ำ ได้แก่ การกระจายยากัญชา ซึ่งมีโรงพยาบาลและคลินิก เป็นผู้จำหน่าย อย่างไรก็ตามภาครัฐควรหันมาให้การสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการอย่างจริงจัง ตั้งแต่เรื่องของสายพันธุ์ ว่าสายพันธุ์ใดเด่นใช้ประโยชน์ในรูปแบบใดให้เกิดคุณค่าได้สูงสุด เรื่องของการศึกษาวิจัย เรื่องของการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์หรือยาที่น่าเชื่อถือ เพราะแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ยอมรับกัญชาในฐานะยารักษาโรคที่แท้จริง นอกจากนี้ ในส่วนของการนำไปต่อยอดในด้านอาหาร และความงามก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน

“กัญชา นับเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคตอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย สามารถสร้างรายได้จริง เพราะในปีที่ผ่านมามีการประเมินมูลค่าทางการตลาดนับตั้งแต่ต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ มีมูลค่ารวมถึงกว่า 28,000 ล้านบาท ผมจึงอยากให้ภาครัฐเร่งออกกฎหมาย และสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์อย่างตรงจุด ขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ ให้ขยับเป็นพืชเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ภาคเอกชนได้เดินหน้าไปไกลแล้ว” นายธวัช กล่าวทิ้งท้าย