‘คดีนาฬิกายืมเพื่อน’ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งภายหลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยผลสอบคดี ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ ตามคำฟ้องของ สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER ที่ขอใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ภายหลัง ป.ป.ช.อ้างข้อกฎหมายหลายฉบับ ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับคดีดังกล่าว

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลสำคัญ 2 ส่วนคือ (1) รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานที่คณะทำงานรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ และ (2) ให้เปิดเผยคำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ทั้ง 4 ครั้ง

โดยขีดเส้นให้เปิดเผยข้อมูลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

สำหรับรายละเอียดแฟ้มคดี ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ ที่ข้อมูลหลายส่วนยังเป็นปริศนา มีจุดเริ่มต้นจาก ช่วงปลายปี 2560 ภายหลังนายกรัฐมนตรีตัดสินใจปรับ ครม.ประยุทธ์ 5

1.วันที่ 4 ธ.ค. 2560 พล.อ.ประวิตร ยกมือขึ้นบังแดดระหว่างรอถ่ายรูป ครม.ประยุทธ์ 5 ที่สนามหญ้าทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยให้เห็นที่ข้อมือขวาสวมนาฬิการิหรูยี่ห้อชาร์ด มิลล์ (Richard Mille) เรือนแรก มูลค่าหลายล้านบาท กลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก

2.วันที่ 7 ธ.ค. 2560 ป.ป.ช. ส่งหนังสือให้พล.อ.ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนาฬิกาหรู เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน

3.ตลอดเดือน ธ.ค. 2560 นักร้องเรียนและโลกโซเชียลมีเดีย ช่วยกันขุดคุ้ยพบ พล.อ.ประวิตร สวมใส่นาฬิกาหรู 25 เรือน และไม่ปรากฏอยู่ในรายการบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เมื่อปี 2557

4.วันที่ 16 ม.ค. 2561 พล.อ.ประวิตร ชี้แจงสื่อมวลชนเพื่อนเอานาฬิกาหรูมาให้ใส่ หาก ป.ป.ช.ตัดสินว่าผิด พร้อมลาออกจากตำแหน่ง

5.วันที่ 24 ม.ค. 2561 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ขอถอนตัวออกจากคดีนาฬิกาหรูเพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องความใกล้ชิดกับพล.อ.ประวิตร เนื่องจากหลังยึดอำนาจ ปี 2557 พล.ต.อ.วัชรพล ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. และรองเลขาธิการรองนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร ก่อนลาออกมาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ประธาน ป.ป.ช.

6.วันที่ 29 มี.ค. 2561 ป.ป.ช. แถลงความคืบหน้าคดีนาฬิกาหรู รอบแรกพบพล.อ.ประวิตร ยืมเพื่อนคนเดียว 22 เรือนและเพื่อนเสียชีวิตไปแล้วแต่ ป.ป.ช. ต้องตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาหรูเพิ่ม 10 บริษัทเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ส่งเอกสารชี้แจง ป.ป.ช.ทั้งหมด 4 ครั้ง

7.วันที่ 10 พ.ค. 2561 ป.ป.ช. เปิดเผยความคืบหน้าคดีนาฬิกาหรู รอบที่สอง ชี้แจงว่าการสอบพยานบุคคลครบถ้วน รวมทั้งสอบทายาทของ ‘นายปัทวาท สุขศรีวงศ์’ เพื่อนของ พล.อ.ประวิตรแต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ขอเวลาตรวจพยานหลักฐานเพิ่ม 3 เดือน

8.วันที่ 14 ส.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแก้ไขรายชื่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) โดยปรับพล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานคณะกรมการ คตช.

9.วันที่ 27 ธ.ค. 2561 ที่ประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มีมติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีนาฬิกายืมเพื่อนโดยให้เหตุผลกรณีนี้ยังไม่มีมูลเพียงพอว่า พล.อ. ประวิตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ประกอบกับพบ เพื่อนพล.อ.ประวิตร มีนาฬิกาหรูจำนวนมากและให้กลุ่มเพื่อนยืมใส่เป็นประจำ

10.หลังปิดคดี ป.ป.ช. ไม่เปิดเผยรายละเอียดผลการสอบคดีและไม่เปิดเผยคำชี้แจงของพล.อ.ประวิตรโดยอ้างกฎหมายหลายฉบับ

กระทั่งวันที่ 15 ก.ย. 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลผลสอบคดี ‘นาฬิกายืมเพื่อน’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้อันจะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและศรัทธาในการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช.