เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 14 ต.ค. นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวการให้ความช่วยเหลือคนไทย จากภัยสงครามในตะวันออกกลาง ว่า ขณะนี้สถานการณ์ยังคงมีความรุนแรง ซึ่งเรายังมีความห่วงกังวลในเรื่องของการเข้าพื้นที่ภาคพื้นดินของทางการอิสราเอล เพราะก่อนหน้านั้น มีการประกาศขอให้พลเมืองภาคเหนือของฉนวนกาซา อพยพออกภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งจนถึงขณะนี้อพยพออกมายังมีจำนวนน้อย ขณะที่ทางกลุ่มฮามาส ออกมาบอกว่าเป็นสงครามจิตวิทยา ขอให้ทุกคนอยู่ที่เดิม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองอยู่ ทั้งนี้ จากข้อมูลทั้งฝ่ายอิสราเอล และปาเลสไตน์ ต่างสูญเสียกำลังพลและพลเรือนเป็นจำนวนมาก จึงขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้
ล่าสุดกองทัพอิสราเอลเปิดเผยว่า ส่งกำลังพลเข้าไปในเขตฉนวนกาซา ใกล้เคียงชายแดนอิสราเอล เพื่อพยายามค้นหาตัวประกัน โดยผู้ประสานงานเรื่องตัวประกันและผู้สูญหายของรัฐบาลอิสราเอล ได้ออกมากล่าวว่า ขณะนี้อิสราเอลได้มีความพยายามทางการทูตเพื่อที่จะนำตัวประกันออกมา อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ในภาวะสงคราม การดำเนินการใดๆ ย่อมกระทำได้ยาก และใช้เวลา รวมทั้งมีรายงานว่า อิสราเอลอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อส่งสิ่งของต่างๆ ให้กับตัวประกัน ซึ่งยังไม่สามารถรับประกันได้ว่า กลุ่มฮามาสจะยอมรับได้หรือไม่
นางกาญจนา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าผลกระทบกับคนไทยในพื้นที่นั้น ต้องขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากได้รับรายงานจากทางสถานทูตไทยที่อิสราเอลว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 3 ราย รวมแล้วมีคนไทยเสียชีวิต 24 ราย ผู้บาดเจ็บเพิ่มเติมจากเมื่อวาน 2 ราย รวมเป็น 16 ราย ผู้ถูกจับเป็นตัวประกันจำนวนเท่าเดิมคือ 16 ราย สำหรับการส่งร่างผู้เสียชีวิตกลับภูมิลำเนานั้น สถานทูตฯ ได้มีการติดต่อกับผู้จัดการบริษัทที่ทางการอิสราเอล ซึ่งมอบหมายให้เป็นผู้จัดการศพผู้เสียชีวิตชาวต่างประเทศในเหตุการณ์สงครามครั้งนี้ เพื่อขอให้เร่งรัดกระบวนการต่างๆ ในการส่งศพกลับภูมิลำเนา โดยทางผู้จัดการฯ แจ้งว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องเร่งกระบวนการ แต่อย่างไรก็ดี การส่งชาวต่างชาติจำนวนมาก แต่รับปากว่าจะพยายามดำเนินการให้โดยเร็วที่สุด โดยทางการอิสราเอลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดกลับภูมิลำเนา อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์ต่างๆ ซึ่งการพิสูจน์อัตลักษณ์ในสถานการณ์ปกติ ทางอิสราเอลจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน แต่ในภาวะสงครามยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก
นางกาญจนา กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการภารกิจอพยพคนไทย ซึ่งเวลาขณะนี้ (15.00 น. วันที่ 14 ต.ค.) เครื่องกำลังใกล้จะขึ้นไปรับคนไทยมากับสายการบินฟลายดูไบ โดยจะเปลี่ยนเครื่องที่นครดูไบ และเดินทางถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา วันที่ 15 ต.ค เวลา 07.25 น. ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และผู้แทนกองทัพเรือ ไปให้การต้อนรับ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ ตรวจสุขภาพกายที่นั่น ทั้งนี้ จะไม่มีการสัมภาษณ์ที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากต้องดำเนินการพาพี่น้องคนไทยเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อพบกับญาติพี่น้องที่โรงแรม SC Park ประมาณ 10.00 น. ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะดูตั้งแต่พื้นที่อู่ตะเภา เมื่อมาถึงก็จะมีหน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมดูแล
“จากรายงานคนไทยที่จะเดินทางมาในวันพรุ่งนี้ (15 ต.ค.) ทั้งหมด 100 ราย ด้วยกัน เมื่อประมาณ 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา เพิ่งเดินทางมาขึ้นเครื่องจำนวน 91 ราย ต้องดูอัปเดตต่อไปว่าจะเดินทางมาครบทั้ง 100 คนหรือไม่ แต่ทราบว่ามี 2 ราย ในบรรดา 100 ราย แจ้งความประสงค์ว่า จะขออยู่ต่อ อีกจำนวนหนึ่งคาดว่า อยู่ระหว่างการเดินทาง” นางกาญจนา กล่าว
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 15 ต.ค. ทางสถานทูตฯ จะอพยพคนไทยด้วยเครื่องบินของ ทอ. โดยออกจากกรุงเทลอาวีฟ เวลา 13.00 น. และเดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 04.40 น. จำนวน 137 ราย นอกจากนี้ ยังมีความพยายามหาเที่ยวบินพิเศษชาร์เตอร์ไฟลต์ต่างๆ จำนวนมาก เพื่อให้คนไทยได้เดินทางอย่างน้อยวันละ 400 ราย ซึ่งหลังการประชุมศูนย์ศึกษาการฉุกเฉินวันนี้ มีความพยายามดำเนินการอพยพคนไทยให้ได้ตามเป้าหมาย โดยวันถัดไป เช่น จะมีสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ ซึ่งเราตั้งใจว่าวันนั้นจะมีจำนวน 250 คน และทางรัฐบาลจะจัดเที่ยวบินพิเศษของกองทัพไทย และการบินไทย บินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกำลังคุยกับทางสายการบินอื่นๆ เพิ่มชาร์เตอร์ไฟลต์ เพิ่มเติมด้วย
สำหรับศูนย์พักพิงที่แจ้งเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ว่าจะใช้โรงแรมแดนพาโนรามาแต่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากว่าสถานทูตฯ จริงๆ ได้ทำ สัญญาไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกใช้ไปทำอย่างอื่น แต่สถานทูตฯ ก็จองใหม่สำหรับศูนย์พักพิงชั่วคราวชื่อโรงแรมเดวิดอินเตอร์คอนติเนนตัล เทลอาวีฟ จำนวน 100 ห้อง ซึ่งสถานทูตฯ ได้ร่วมกับทางการอิสราเอล ไปลำเลียงคนไทยมาที่กรุงเทลอาวีฟด้วย ส่วนหนึ่งเข้าที่พักกันแล้ว
นางกาญจนา กล่าวด้วยว่า สำหรับคนที่เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที 13 ต.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 56 คน โดยเดินทางมากับเครื่องบินที่ดำเนินการภารกิจอพยพของรัฐบาล 19 คน และประชาชนที่ซื้อตั๋วกลับมาเอง 37 คน รวม 56 คน ทุกรายเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาโดยปลอดภัยแล้ว
“ในภาพรวมตอนนี้มีผู้แสดงความประสงค์กลับประเทศไทย 7,058 ราย บางส่วนกรอกข้อมูลซ้ำ ทางสถานทูตฯ กำลังดูตารางให้ชัดเจน ว่ามีใครกรอกซ้ำบ้าง บางส่วนก็แสดงความประสงค์ว่าจะอยู่ต่อ” นางกาญจนา กล่าวและว่า วันที่ 15 ต.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีจะมาเป็นประธานการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทรวงการต่างประเทศ เวลา 16.00 น. เพื่อติดตามการทำงานของทุกหน่วยงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก มีการติดตามสถานการณ์และดำเนินการช่วยเหลือคนไทยอย่างใกล้ชิด
เมื่อถามว่า กรณีคนไทยที่รอดชีวิตกลับมา มีการระบุว่ากลุ่มฮามาสพูดภาษาไทย เพื่อล่อคนไทยไปสังหาร ขอให้ประเมินความเสี่ยงว่าคนไทยกำลังตกเป็นเป้าหมายหรือไม่ นางกาญจนา กล่าวว่า ยืนยันว่า คนไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายพิเศษอะไร แต่เนื่องจากเป็นสถานการณ์สงคราม การจับกุมคนต่างๆ ไป คือคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นคนอิสราเอลหรือคนต่างชาติก็ตาม คนไทยไม่ได้เป็นเป้าหมาย และที่เราได้รับฟังจากฝ่ายต่างๆ มา คือคนต่างชาตินั้น ไม่น่าจะเป็นเป้าหมายในการทำร้าย
เมื่อถามต่อว่า กลุ่มฮามาสเปิดเผยว่ามีตัวประกันเสียชีวิต 13 ราย จากการโจมตีทางอากาศของทางการอิสราเอล มีคนไทยหรือไม่ นางกาญจนา กล่าวว่า ตนทราบจากที่มีการติดตามข่าวเช่นกัน แต่ยังไม่เห็นมีการเปิดเผยรายชื่อออกมา จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีใครบ้าง ทั้งนี้ เราไม่อยากให้ใครถูกฆ่าตายทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ดังนั้นจึงต้องติดตามข่าวต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การที่อิสราเอลจะดำเนินการภาคพื้นดินนั้น จะมีผลกระทบต่อตัวประกัน และคนไทยมากขึ้นหรือไม่ นางกาญจนา กล่าวว่า ในแง่ของการดำเนินการยุทธการทางทหารทางภาคพื้นนั้น จะมีผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งก็มีการคาดเดากันว่า ตัวประกันอาจจะถูกจับกุม และกระจายตัวอยู่ตามอุโมงค์ใต้ดินต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ทุกคนมีความกังวล ทั้งนี้ จากการติดตามข่าวทราบว่า ทางสหรัฐอเมริกาได้พยายามขอให้อิสราเอลชะลอการดำเนินการภาคพื้นดินไปก่อน รวมทั้งทางสหประชาชาติต่างๆ ก็ขอให้ทางการอิสราเอลชะลอการดำเนินการทางภาคพื้นดินด้วย เพราะการบอกให้อพยพคนเป็นล้านในเวลา 24 ชั่วโมงนั้น เป็นไปไม่ได้ แล้วคนที่อพยพได้จริงๆ ก็มีน้อยมาก.