นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) เปิดเผยว่า ในช่วงโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการและคนต้องตกงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนการเกิดระบาดโควิด ครึ่งปีแรกปี 62 กับครึ่งปีแรกปี 64 หรือช่วง 2 ปีมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.81 แสนคน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 104.6% จากสิ้นปี 62 มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน มาเป็น 7.45 แสนคนในสิ้นเดือนม.ย.64 และมีแนวโน้มคนตกงานเกิน 1 ปีมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นคนว่างงานระยะยาว

นอกจากนี้มีแรงงานในระบบออกไปนอกระบบเพื่อไปทำงานอิสระมากขึ้น และยังมีแรงงานอายุน้อยว่างงานสูง 8.5% ขณะที่แนวโน้มการจ้างงานยังมีอยู่ แต่เป็นในกลุ่มธุรกิจอาชีพที่สอดรับโลกหลังโควิด เช่น ด้านไอที ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ

ขณะเดียวกันยังประเมินรายได้แรงงานไทยที่สูญเสียในช่วงโควิดมีสูง 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น คนว่างงานและคนเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นความสูญเสีย 1.4 แสนล้านบาทต่อปี , รายได้กลุ่มลูกจ้างที่ลดลง คิดเป็น 3.1 แสนล้านบาทต่อปี , รายได้คนทำธูรกิจที่ลดลง สูญเสียรายได้ 1 ล้านล้านบาทต่อปี และรายได้คนทำงานรับจ้าง หรืองานอิสระลดลง คิดเป็นความสูญเสียทางรายได้ 2.1 แสนล้านบาทต่อปี

นายยรรยง กล่าวว่า จากปัญหาแรงงานส่งผลยังหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เพราะคนที่ตกงานต้องการเงินมาใช้จ่ายเพิ่ม จากข้อมูลคำค้นหาจากกูเกิ้ล มีคนไทยค้นคำคำว่า เงินด่วน เงินร้อนสูงขึ้น ทำให้สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นตามด้วยสวนทางสินเชื่อประเภทอื่นๆ เนื่องจากคนต้องการเงินมากขึ้น และอาจยังไปกู้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นด้วย

“ผู้ที่ยังมีงานทำอยู่ก็มีรายได้เฉลี่ยลดลง จากการลดลงของจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ทำให้รายได้โอทีและโบนัสหดตัวลงมาก อีกทั้ง แรงงานยังมีการเคลื่อนย้ายไปในงานที่รายได้ต่ำลงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายไปทำงานในภาคธุรกิจที่ค่าแรงเฉลี่ยต่ำลง หรือการเปลี่ยนจากลูกจ้างเป็นประกอบอาชีพอิสระซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า โดยสภาวะตลาดแรงงานที่ซบเซานี้จะบั่นทอนความสามารถของภาคครัวเรือนในการหารายได้และการบริหารจัดการหนี้ที่อยู่ในระดับสูงซึ่งคาดว่าน่าจะยังเป็นหนึ่งในภาระหนักของภาคครัวเรือนไทยต่อเนื่องในระยะปานกลาง”