เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ประชุมร่วมรัฐสภาล่ม เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุม ว่า นี่เป็นการประชุมร่วมรัฐสภาต้องเป็นเรื่องของวิป 3 ฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตามปกติ การประชุมร่วมรัฐสภาไม่ค่อยที่จะมีโอกาสล่ม เพราะทุกฝ่ายตระหนักดีว่าการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นไปได้ยาก และต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าเรื่องใดบ้างที่ประชุมร่วมกันในรัฐสภา ฉะนั้นการที่สภาล่มเป็นการสะท้อนอะไรบางอย่างของวิปแต่ละฝ่ายที่จะต้องประสานงานกันให้ชัดเจน เพราะจะทำให้มองได้หลายส่วน 1.ทำให้กฎหมายสำคัญที่ควรจะผ่านรัฐสภาตามกำหนดเวลาก็ไม่ผ่านไป 2.สะท้อนให้เห็นถึงการประสานงานว่าจะต้องประสานงานในแต่ละฝ่ายให้เกิดความชัดเจนทั้งเวลาเปิดและเวลาปิดซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 3.ในการลงมติครั้งนี้เป็นวันสุดท้ายร่วมกันของรัฐสภาโดยปกติจะมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมด้วย ฉะนั้น ส.ส.ทุกคนจะต้องตระหนักและรับผิดชอบในส่วนตรงนี้ด้วย ตนคิดว่าอยู่ที่ความรับผิดชอบในแต่ละคน

เมื่อถามว่า ภายในวิปยังไม่ได้มีการนัดคุยกันถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันเพราะปิดสมัยประชุมพอดี แต่ก็ต้องมาคุยกับ โดยเฉพาะพรรคแกนนำจะต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าเรื่องใดมีความสำคัญอย่างไรและควรที่จะต้องแจ้งให้แต่ละพรรคได้มีส่วนในความรับผิดชอบหรือทราบว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะทำให้เป็นที่สงสัยกันว่าทำไมกฎหมายฉบับนี้ถึงไม่ผ่านเหมือนที่สงสัยกัน แล้วท้ายที่สุดพรรคร่วมรัฐบาลก็จะถูกครหานินทาร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกแล้วตนก็เป็นคน อภิปรายเรื่องนี้เป็นคนสุดท้ายและเรียกร้องว่าจะติดตามดูการลงมติของเพื่อนสมาชิกรัฐสภาเพราะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

เมื่อถามว่า ประชุมรัฐสภาล่มในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐหรือเป็นสัญญาณถึงการยุสภาหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่า เกิดเหตุการณ์รัฐสภาล่ม 2 ครั้ง ทำให้คนสามารถมองไปได้หลายมิติ อันนี้เป็นเรื่องที่การเปิดประชุมครั้งต่อไปวิปทั้ง 3 ฝ่ายต้องมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ทำให้ชัดเจนก็อาจจะมีปัญหาต่อความศรัทธาต่อระบบรัฐสภาได้ ในที่สุดก็อาจทำให้เป็นข้ออ้างที่จะนำไปสู่การไม่เกิดเสถียรภาพของรัฐบาลหรืออาจจะต้องยุบสภาซึ่งก็เคยมีมาแล้ว