สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ว่า ผลการเลือกตั้งสมาชิก 368 คน จากจำนวนผู้สมัคร 412 คน ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมาธิการเลือกตั้ง 1,500 คนของฮ่องกง โดย "ตัวแทนประชาชน 4,380 คน" จากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ส่วนใหญ่มีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.6% ของประชากรทั้งเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ ปรากฏออกมาแล้ว หลังมีการลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า มีผู้สมัครเพียงคนเดียวจากปีกการเมืองสายตรงข้ามขั้วอำนาจเก่า ได้รับการคัดเลือกในโควตากลุ่มสวัสดิการสังคม
ขณะที่สมาชิกในคณะกรรมาธิการซึ่งยังเหลืออีก 1,136 คน จะมีทั้ง "โควตาที่เหลือ" ของสมาชิกเดิม และมาจากการคัดเลือกตามสาขาอาชีพ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนจีน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็น "พื้นฐานสำคัญ" นั่นคือตัวแทนทุกคนทั้งผู้เลือกและผู้ถูกเลือก "ต้องมีจิตวิญญาณของความรักชาติ" ด้านสื่อท้องถิ่นรายงานเพิ่มเติม ว่าบุคคลซึ่งมีความเชื่อมโยงกับบรรดานายทุน "จะมีบทบาทน้อยลง"
ทั้งนี้ คณะกรรมาะการทั้ง 1,500 คน เพิ่มขึ้นจากในอดีตซึ่งมี 1,200 คน จะทำหน้าที่เลือกหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกงคนใหม่ ในเดือน มี.ค.ปีหน้า อย่างไรก็ตาม ก่อนถีงวันนั้น คณะกรรมาธิการจะทำหน้าที่สรรหาสมาชิก 40 คน จากทั้งหมด 90 ที่นั่ง ในสภานิติบัญญัติ ( เล็กโค ) ในเดือน ธ.ค.นี้ โดยที่เหลืออีก 30 ที่นั่ง จะมาจากกระบวนการคัดสรรพิเศษ หมายความว่าจะมีสมาชิกเล็กโคเพียง 20 คนเท่านั้น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
การเลือกตั้งของฮ่องกงครั้งนี้ เป็นไปมติของสภาประชาชนแห่งชาติ ( เอ็นพีซี ) ในกรุงปักกิ่ง เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ในการบัญญัติกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 และมาตรา 2 ของเบสิกลอว์ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง "เพื่อการปฏิรูปกลไกการเลือกตั้งของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง"  
อย่างไรก็ตาม ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2540 หรืเมื่อ 24 ปีที่แล้ว จีนและสหราชอาณาจักรลงนามร่วมกันใน "ปฏิญญาร่วมจีน-บริติช" เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2527 และมีผลอย่างเป็นทางการหลังทั้งสองประเทศร่วมให้สัตยาบันในเดือนพ.ค. 2528 ว่าด้วยการส่งมอบเกาะฮ่องกงจากสหราชอาณาจักร กลับคืนสู่จีนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 ก.ค. 2540 หลังครบสัญญาเช่า 99 ปี และรัฐบาลปักกิ่งจะมอบอธิปไตยให้แก่ฮ่องกง ในฐานะเขตบริหารพิเศษ สามารถมีระบบการเมืองและเศรษฐกิจตามหลักทุนนิยมได้ หรือ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 50 ปี หรือจนถึงปี 2590.

เครดิตภาพ : AP