เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้มีนกนางนวลฝูงใหญ่ประมาณ 500-600 ตัว อพยพหนีหนาวจากมองโกเลีย มาอาศัยอยู่ที่ดอนหอยหลอด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม และใช้พื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในการดำรงชีวิต มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมและให้อาหารนกประเภทไส้ไก่ทอด แคปหมู และกากหมู ที่ได้จากการเจียวน้ำมัน ซึ่งก็ทำให้นกนางนวลบินโฉบลงมากินอาหารที่นักท่องเที่ยวโยนให้อย่างใกล้ชิด เพราะนกนางนวลฝูงนี้ค่อนข้างจะคุ้นชินกับผู้คน สร้างความประทับใจและตื่นเต้นให้กับผู้ที่ได้ชม โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ ที่ได้เห็นนกนางนวล โดยปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่นกนางนวลมาที่ดอนหอยหลอด และคาดว่าจะทยอยมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

นายศราวุธ กล้วยจำนงค์ นายกเทศมนตรีตำบลบางจะเกร็ง เจ้าของพื้นที่รับผิดชอบ บอกว่า นกนางนวลฝูงนี้จะอยู่ที่ดอนหอยหลอดไปจนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จึงจะอพยพกลับถิ่นฐานเดิม ช่วงนี้จึงมีนักท่องเที่ยวบางราย นำอาหารไปปูเสื่อนั่งรับประทานเพื่อรอชมนกนางนวลกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ดอนหอยหลอดกลับมาคึกคักอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ทางเทศบาลตำบลบางจะเกร็งได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เฝ้าป้องกันไม่ให้นกถูกรังแก เพื่อให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตลอดช่วงฤดูหนาวนี้ ยาวไปถึงปีใหม่ ดังนั้นช่วงนี้ ใครมาเที่ยวดอนหอยหลอด นอกจากจะได้มาหยอดหอยหลอด มาทานอาหารทะเลสดๆ แล้ว ยังจะได้ชมนกนางนวลฝูงนี้ ซึ่งจะปรากฏตัวทุกวัน โดยช่วงเวลาดีที่สุดในการชมนกคือประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป จนพระอาทิตย์ตกดิน

สำหรับนกนางนวลชนิดนี้ เป็นนกนางนวลธรรมดา (Brown-headed gull) เป็นนกทะเลชนิดหนึ่งในวงศ์นกนางนวล (Laridae) เป็นนกที่มีขนาดกลาง มีความแตกต่างจากนกนางนวลชนิดอื่นๆ คือมีลายแถบสีขาวขนาดใหญ่บริเวณโคนขนปลายปีก ตัวเต็มวัยจะมีลายทางสีขาวบริเวณปลายขนปีกซึ่งมีสีดำ เห็นได้จากทั้งด้านบนและด้านล่าง ปีกส่วนอื่นๆ และช่วงไหล่สีเทาอ่อน ช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ ลำตัวปกติจะเป็นสีขาว มีลายแถบสีน้ำตาลเข้มบริเวณเหนือตา ส่วนช่วงฤดูผสมพันธุ์ หัว คอ และต้นคอจะเป็นสีน้ำตาล ปากและนิ้วเป็นสีแดง ตัวไม่เต็มวัย จะมีลักษณะคล้ายกับตัวเต็มวัยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ แต่จะมีสีน้ำตาลบางส่วนที่ปีกและมีลายแถบสีดำใกล้ๆ กับปลายหาง ปากสีแดงหรือสีส้ม โดยบริเวณที่โคนปากจะเป็นสีเทา นิ้วสีส้มหรือสีแดง ขนแต่ละช่วงวัยและแต่ละฤดูกาลจะแตกต่างกันออกไป

โดยเป็นนกที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียกลาง เช่น เติร์กเมนิสถาน ถึงมองโกเลีย มีการบินอพยพลงใต้ในช่วงต้นฤดูหนาว (ช่วงปลายปี) มาสู่ซีกโลกตอนใต้ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เพื่อหนีหนาวและขยายพันธุ์ ลูกนกมักจะเกิดในช่วงนี้ วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง ใช้เวลาฟักนานประมาณ 24 วัน ลูกนกใช้เวลา 3 เดือน จึงจะบินได้เองในราวเดือนพฤษภาคม จากนั้นจึงจะพากันอพยพกลับถิ่นฐานเดิม
