เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการแก้ไขปัญหาขอทานคนจีนในประเทศไทย ว่า ตามที่มีข่าวพบขอทานจีนในหลายพื้นที่นั้น คาดว่าที่ผ่านมา อาจจะเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ขณะนี้ทาง พม. ได้ประสานกับทุกหน่วยงานทั้ง หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันดูแลปัญหาขอทานต่างชาติ ซึ่งจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เท่าที่ทราบ 1 ในจำนวนนั้น เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะพาสปอร์ตหมดอายุแล้ว ก็จะมีกฎหมายฉบับอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องที่คือ การตรวจคนเข้าเมือง
“การขอทานในประเทศไทยทุกพื้นที่เป็นการทำผิดกฎหมาย และประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่องการค้ามนุษย์ และผมได้ประชุมกับคณะอนุกรรมการและติดตามอยู่เสมอ ทั้ง กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ พม. ดำเนินการอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นประเด็นการค้ามนุษย์จะต้องมีการสืบสวนต่อไปว่า ในแต่ละกรณีที่พบมีความใกล้เคียงกันมาก ซึ่งอยู่ในชุดนักเรียนนักศึกษาและมีเรื่องราวคล้ายคลึงกัน ต้องให้เจ้าหน้าที่สืบสวนเพิ่มเติมว่าเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการค้ามนุษย์หรือไม่อย่างไร” นายวราวุธ กล่าว และว่า หากประชาชนพบขอทานในพื้นที่ใด โดยเฉพาะคนต่างชาติให้แจ้งสายด่วน พม. 1300 ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ดูแล โดยส่วนใหญ่พบในพื้นที่พลุกพล่าน การจราจรหนาแน่น โอกาสที่จะได้เงินจากนักท่องเที่ยวจึงมีสูง ทั้งนี้ คนให้ทาน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่า ประเทศไทยใช้มาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่าฟรี กับนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นช่องโหว่ให้คนจีนเข้ามาประกอบมิจฉาชีพในประเทศไทยหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า กรณีที่พบ คือหนังสือเดินทางหมดอายุไปแล้ว จะฟรีวีซ่าหรือไม่ ก็เข้าประเทศไม่ได้ ก็ต้องสืบสวนกันว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบ การเข้าเมืองมาได้อย่างไร และถ้าหากการเข้าเมืองด้วยมาตรการฟรีวีซ่านั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) คงมีวิจารณญาณพอสมควร หากเจอบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรที่ต้องสงสัย คงมีการตั้งคำถาม คงไม่เกี่ยวกัน
เมื่อถามว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลหรือไม่ เพราะประเทศไทยถูกจับตาในเรื่องของการค้ามนุษย์ จะทำให้การจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยลดลงหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการรวบรวมการทำรายงานการค้ามนุษย์ ให้กับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเสร็จและภายในเดือน ม.ค. 2567 จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งเราดำเนินการทุกปีโดยในรายงานนี้จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1.การดำเนินคดีการฟ้องร้องทางกฎหมาย 2. การป้องกันสร้างการตระหนักรับรู้ 3. การเยียวยาและการดูแล ซึ่งมีหน่วยงานดูแลแตกต่างกันไป ซึ่งทุกหน่วยงานดำเนินการกันอย่างเต็มที่ ขณะนี้ประเทศไทยถูกจัดอันดับเรื่องการค้ามนุษย์อยู่ในเทียร์ 2 ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง
“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งชุดปัจจุบันและชุดที่ผ่านมา ในการที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในเทียร์ 2 และต้องทำให้การเลื่อนสถานะเป็นเทียร์ 1 โดยเร็ว เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอทานและหลายกิจการเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยกลับสู่เทียร์ 1” นายวราวุธ กล่าว.