จากกรณีนายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง และนายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ประจำรองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ได้เดินทางมาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ยื่นคำร้องขอให้ดีเอสไอ โดยมี ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ เป็นตัวแทนรับคำร้องแทนอธิบดีดีเอสไอ กรณี กลุ่มชาวจีนเข้ามาขอทานภายในประเทศไทย อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ภายหลังจากที่นายกัณฐัศว์ ได้พาเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางพลัด ไปตรวจสอบบริเวณหน้าสะพานลอย ติดกับเสาไฟฟ้าหน้าห้างสรรพสินค้าย่านปิ่นเกล้า ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กทม. ทำให้พบกับหญิงวัย 40 ปี ชาวจีน สวมชุดคล้ายนักศึกษาระดับปริญญาตรี ถูกตัดมือทั้งสองข้างและถูกน้ำกรดราดที่ใบหน้าจนเป็นแผล มานั่งขอทานที่บริเวณดังกล่าว และต่อมาพบว่ามีกลุ่มชาวจีนที่มีลักษณะเดียวกันอีกหลายราย ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย. พ.ต.ต.สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้รับเรื่องจากผู้ร้องแล้ว ขั้นตอนถัดไปก็จะต้องขอการอนุมัติตั้งเลขสืบสวนคดีพิเศษจากอธิบดีดีเอสไอ เพื่อสืบสวนดูว่าพฤติการณ์และลักษณะดังกล่าวทั้งหมดเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ และเพื่อพิจารณาความผิด หากเป็นการค้ามนุษย์ กองคดีฯ ก็จะมีลักษณะหรือเกณฑ์ที่จะประเมินรับเป็นคดีพิเศษได้ ซึ่งระหว่างนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษก็จะต้องสืบค้นหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมก่อน โดยการประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ อาทิ สน.บางพลัด สน.บางรัก สน.ลุมพินี เป็นต้น เพื่อขอหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รวบรวมไว้แล้ว เช่น บันทึกการซักถาม การสัมภาษณ์ต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของเราอาจจะต้องลงพื้นที่เพื่อไปสัมภาษณ์เหยื่อโดยตรงด้วย

พ.ต.ต.สิริวิชญ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการในเบื้องต้นนั้น เราได้มีการประสานขอข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางรัก เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับจะดำเนินการสอบถามไปยัง สน.อื่นๆ ต่อไป อย่างไรหลังจากนี้ เราจะต้องมีการตั้งเลขสืบสวนควบคู่ไปกับการสืบค้นหาข้อมูลต่างๆ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นมันมีบุคคลที่ทำการขอทานจริงและมีจำนวนหลายราย ทั้งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ที่ทำการขอทานยังมีพฤติการณ์ในลักษณะคล้ายกัน รวมถึงยังมีกลุ่มบุคคลที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเรียกว่านายหน้า หรือผู้นำพาเป็นธุระจัดหาที่อาจใช้พิจารณาได้ว่าเป็นผู้บังคับให้มีการขอทานเกิดขึ้นหรือไม่ และถึงแม้ว่าเหยื่อจะไม่กล้าหรือยินยอมในการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ แต่โดยหลักการแล้วเราจะใช้กระบวนการตรวจสอบการค้ามนุษย์เข้าไปพูดคุยกับเหยื่อ เพื่อทำให้เหยื่อเปิดใจและพร้อมให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์

ส่วนลักษณะพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์นั้น พ.ต.ต.สิริวิชญ์ กล่าวว่า จะมีลักษณะ คือ มีการนำคนมาขอทาน เพราะในเบื้องต้นพบว่ามีเหยื่อตามที่ปรากฏในข่าวที่มาทำการขอทาน ดังนั้น เราจะต้องไปดูว่ามีลักษณะเป็นขบวนการที่มีบุคคล หรือมีการนำพา การเป็นธุระจัดหาพามาส่ง หรือรับไว้โดยวิธีการต่างๆ ในการหลอกลวง ขู่เข็ญ กระทำการโดยมิชอบ เพื่อนำบุคคลเหล่านั้นมาบังคับขอทานหรือไม่ ถ้าเข้าองค์ประกอบเหล่านี้ก็ถือเป็นการค้ามนุษย์ หรือถ้าเหยื่อเป็นเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี บุคคลที่นำมาขอทานก็จะเข้าลักษณะของการค้ามนุษย์โดยไม่ต้องมีการพิจารณาว่าเป็นการบังคับ หรือเป็นความสมัครใจของเหยื่อหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นเด็กและเยาวชน

ยังมีอีก! ‘กัน จอมพลัง’ วอนสอดส่อง ‘หญิงขอทานหน้าเละ’ จ่อขยายผลแก๊งทารุณฟันเงินคนไทย

พ.ต.ต.สิริวิชญ์ กล่าวถึงสถานการณ์การขอทานของชาวต่างชาติ ว่า สำหรับที่มีลักษณะเข้าเป็นการค้ามนุษย์นั้น ช่วงปีที่ผ่านมา กองคดีการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ ได้ดำเนินการจำนวนหลายคดี ซึ่งเคสล่าสุด คือ ที่พัทยาซึ่งศาลก็ได้มีการลงโทษจำคุกต่อผู้ต้องหา เพราะมีพฤติการณ์ลักษณะทำเป็นขบวนการค้ามนุษย์อย่างชัดเจน เช่น มีการจัดหาคนมาทำการขอทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวกัมพูชา และมีการนำพาเด็กเข้ามาทำขอทาน แม้ว่าเด็กจะสมัครใจแต่ก็เข้าลักษณะเป็นการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ แม้ว่าในกรณีที่เป็นข่าวในปัจจุบัน เหยื่อที่เป็นชาวจีนที่มาทำการขอทานจะอ้างว่าดำเนินการเช่นนั้นเพราะไม่มีเงิน กระเป๋าเงินหาย พาสปอร์ตไม่ได้พกติดตัว และเมื่อได้เงินตามจำนวนก็จะเดินทางกลับประเทศ อย่างไรแล้วการขอทานภายในประเทศไทยก็ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 แต่เราก็ต้องไปตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเหยื่อกระทำการโดยไม่สมัครใจหรืออยู่ในสภาพที่ถูกบังคับหรือไม่ ก็จะเข้าองค์ประกอบการค้ามนุษย์ ตามที่เรียนแจ้งข้างต้น

พ.ต.ต.สิริวิชญ์ กล่าวอีกว่า หากมีการพิสูจน์ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้ทำการขอทานเป็นเหยื่อจริงก็จะต้องได้รับการคุ้มครอง และจะต้องได้รับการช่วยเหลือ จนถึงขั้นตอนการส่งกลับไปยังภูมิลำเนาหรือประเทศต้นทางของบุคคลนั้นๆ ส่วนกรณีของผู้ต้องหา หรือผู้ที่รับหน้าที่เป็นธุระจัดหา ก็จะต้องถูกดำเนินการเอาผิดทางอาญาฐานความผิด การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยการนำคนมาขอทาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับอายุของผู้เสียหายและความรุนแรงที่เกิดขึ้น หากผู้ที่ถูกค้ามนุษย์ได้รับอันตราย ก็จะต้องมีโทษเพิ่มขึ้นไป ทั้งนี้ หากดีเอสไอเป็นคดีพิเศษเมื่อใด และพยานหลักฐานมีความครบถ้วนชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีลักษณะการกระทำการค้ามนุษย์ คณะพนักงานสอบสวน ก็จะรวบรวมพยานหลักฐานทุกรายการเพื่อขอศาลออกหมายจับ แต่ในระหว่างนี้เจ้าหน้าที่อยู่ในขั้นตอนของการสืบสวน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาสักพักก่อนเสนออธิบดีดีเอสไอเพื่อเสนอบอร์ดในการรับเป็นคดีพิเศษ รวมถึงก็จะต้องมีกระบวนการในการคัดแยกผู้เสียหาย โดยจะมีหน่วยงานอื่นๆ มาร่วมด้วย อาทิ นักสหวิชาชีพ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เพื่อมาช่วยกันสัมภาษณ์คัดแยกเหยื่อต่อไปตามขั้นตอน.