เมื่อวันที่ 26 พ.ย. พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโยบายของรัฐบาลที่ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน สั่งการให้ทาง บช.สอท. บูรณาการกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา คอลเซ็นเตอร์และภัยออนไลน์ทุกมิติ โดยมีการตั้งคณะทำงานพหุภาคีแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์, คณะทำงานด้านการปราบปราม, คณะทำงานด้านการป้องกันและประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน, คณะทำงานแก้ไขกฎหมาย, ศูนย์ AOC ซึ่งเป็นศูนย์รับแจ้งความหมายเลข 1441 ตลอดจนศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเหตุอาชญากรรม
ซึ่งที่ผ่านมาทางตำรวจไซเบอร์ได้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรมรวมไปถึงการเปิดปฏิบัติการซิมสายเสาเพื่อตัดวงจรดังกล่าว ขณะเดียวกันในที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมาได้มีการหารือ แนวทางในการดำเนินการปราบปรามเรื่องซิมม้าและอาชญากรรมทางออนไลน์และสรุปมาตรการเร่งดำเนินการ โดยคาดว่าภายในเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้จะมีราชกิจจานุเบกษาออกประกาศให้ผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ด ตั้งแต่ 5 เลขหมายขึ้นไป ลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกับผู้ให้บริการเครือข่ายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันออกประกาศ และหากไม่มีการยืนยันตัวตนภายใน 30 วันก็จะต้องระงับการให้บริการหรือระงับสัญญาณต่อไป ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการออกประกาศอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
นอกจากนี้ได้ประสานกับทางผู้ให้บริการเครือข่ายให้ช่วยกันตรวจสอบกรณีเลขหมายต้องสงสัยที่มีการโทรฯ ไปยังหมายเลขอื่นโดยไม่ซ้ำกัน ซึ่งเป็นลักษณะสุ่มโทรฯ ให้ส่งข้อมูลมาทางศูนย์วิเคราะห์เพื่อที่ทางเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบ และหากเป็นเบอร์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือเป็นเบอร์ที่ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลในการลงทะเบียนได้ก็จะต้องระงับตามขั้นตอนต่อไป
ขณะเดียวกันทางผบ.ตร.ได้เร่งดำเนินการขยายผลการจับกุม และทลายเครือข่ายบัญชีม้าและซิมม้า โดยสืบสวนสอบสวนในเชิงลึกถึงบัญชีในขั้นตอนต่างๆ พร้อมร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและสร้างความมั่นใจในการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ในส่วนของวิธีการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์เพื่อป้องกันการถูกหลอกโอนเงินนั้น สามารถตรวจสอบว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพหรือไม่ ได้หลายช่องทางประกอบไปด้วยนำเบอร์โทรฯ ค้นหาใน Google ตรวจสอบว่าเคยถูกแจ้งความข้อหาฉ้อโกง หรือมีผู้ลงข้อมูลไว้ว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่, ค้นหาเบอร์ใน Facebook กรณีที่เบอร์โทรฯ เคยผูกไว้กับบัญชี Facebook จะพบผู้ใช้เบอร์โทรฯ ดังกล่าว หรืออาจมีผู้โพสต์เตือนภัยไว้ว่าเป็นมิจฉาชีพ, ค้นหาเบอร์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยเข้าไปที่ “เพิ่มเพื่อน” เลือก “ค้นหา” เลือก “หมายเลขโทรศัพท์” กรอกเบอร์โทรฯ ก็จะพบว่าผู้ใช้เบอร์โทรฯ นั้นคือใคร เป็นอวตารหรือไม่ และใช้แอปพลิเคชัน WHOSCALL ซึ่งเป็นแอปพลิเคชัน ที่ใช้ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะบันทึกเบอร์โทรศัพท์ที่ผู้ใช้รายอื่นได้บันทึกไว้ว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพหรือไม่.