“สถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง” หรือ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง” เป็นโครงการที่สนับสนุนให้ “สถาบันอุดมศึกษา” ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีไปช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เกิดการ “ยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน” อีกทั้งเพื่อช่วยส่งเสริมการสร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย

โครงการนี้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับการพัฒนาประเทศในทุกมิติและนำพาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยการพัฒนาการศึกษา และพัฒนาทักษะความสามารถการเรียนรู้ที่สอดรับทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

โครงการสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง จะช่วยขับเคลื่อนภารกิจของ สป.อว.ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการสนับสนุนให้เครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาสมาชิกกระจายทั่วทุกภูมิภาค นำองค์ความรู้ไปช่วยพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมทั้ง บูรณาการการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน และชุมชน โดยมุ่งเน้นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของเด็กไทย รวมไปถึงการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความจําเป็น ลักษณะของผู้เรียนและบริบทพื้นที่ของสถานศึกษา โดยก่อให้เกิดระบบสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยงในการร่วมพัฒนาช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ให้เข้มแข็ง

ขณะที่รูปแบบการดำเนินการคือพัฒนาครูสู่ผู้เรียน เน้นการพัฒนาครูที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 พันคน ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการพัฒนาผู้เรียนที่ตั้งเป้าไว้ จำนวน 80,000 คน ให้มีศักยภาพด้านวิชาการ ทักษะวิชาชีพ ทักษะชีวิตและด้านคุณธรรมและจริยธรรม ผ่านกิจกรรม อาทิ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดค้นและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาตนเอง ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน การพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนของเด็กไทย การผลิตและใช้สื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศ (IT) เพื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิชาการ วิชาชีพและทักษะชีวิต เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว.กล่าวว่า “โครงการสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงใช้กลไกการทำงานในรูปของเครือข่าย มีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา 9 เครือข่ายทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาแม่ข่าย ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยมีการประสานพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคีภายนอก อาทิ เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าประจำจังหวัด หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสาธารณสุขจังหวัด เป็นต้น โดยในปีงบประมาณ 2566 มีมหาวิทยาลัยจำนวน 131 แห่ง โรงเรียนจำนวน 1,389 โรงเรียน เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาครู 13,386 คน และนักเรียน 134,325 คน”
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ ส่งผลให้เกิดผลงานวิชาการในรูปแบบผลผลิตโครงการฯ ที่สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น เกิดคู่มือ สื่อนวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน โครงการแหล่งเรียนรู้ระบบอัตโนมัติจาก coding สู่ชุมชน สัญญาณเสียงอัจฉริยะ Voice controller by KidBright ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความเข้าใจในกระบวนการการทำงานของบอร์ด KidBright เขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาการทำงานในชีวิตประจำวัน และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากแหล่งเรียนรู้สู่บุคคลในชุมชนได้ เป็นต้น และสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สถาบันละ 1 รายการ
ขณะที่ครูมีการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญนักเรียนมีสัมฤทธิผลการเรียนเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษาก่อนหน้า ผลสัมฤทธิ์ของโครงการสถาบันอุดมศึกษาพี่เลี้ยง จะก่อให้เกิดเครือข่ายอุดมศึกษาภูมิภาค 9 เครือข่าย เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดคลังความรู้ เพื่อพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานและคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นี่คือก้าวยาวๆ ของการอุดมศึกษาของประเทศไทย