เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นางรุ่งเรือง ทองคำ เลขาธิการสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 พ.ย. 66 เวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารร่วมบริการสาธารณะ นำโดยนายปรีดา มากมูลผล นายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัด นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะกรุงเทพ ปริมณฑล นายอนุชิต จตุรงคปัญญา ตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะหมวด 1 และผู้ประกอบการรถรถตู้ รถมินิบัส รถเมล์ รถโดยสาร และรถสองแถว จะนำรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ประมาณ 200-300 คัน ไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เรื่องร้องทุกข์มาตรการช่วยเหลือราคา-ก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ

ตั้งแต่ที่สมาคมรถตู้รถโดยสารสาธารณะกรุงเทพฯ ปริมณฑล สมาคมรถตู้ต่างจังหวัด และผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะหมวด 1 และปริมณฑล ได้มีหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย. 66 ทั้งนี้ ได้ล่วงเลยเวลามามากแล้ว ที่ทางกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ต้องแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงต่ออย่างไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางได้ทยอยล้มหายตายจากไปจนแทบจะไม่มีให้บริการผู้โดยสารแล้วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ได้มีจดหมายตอบกลับจากสำนักงาน รมว.พลังงาน ว่า มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบและศึกษาการแก้ไขปัญหาแก๊สเอ็นจีวี สำหรับรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ และรถแท็กซี่ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการฯ เห็นว่าการทำเรื่องเอ็นจีวีให้ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ดี แต่การบรรเทาผลกระทบอย่างปัจจุบันทันด่วน (มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบอาชีพหรือประกอบการรถโดยสารสาธารณะ เรียกร้องมี 4 ข้อดังนี้ 1.ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซเอ็นจีวี สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ที่ 12.74 บาท ต่อกิโลกรัม (กก.) 2.ขอให้ไม่กำหนดปริมาณการเติมก๊าซเอ็นจีวี (กิโลกรัม) ที่ได้รับการตรึงราคา สำหรับรถแต่ละประเภท 3.ขอให้มีระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือถึงเดือน ธ.ค. 68 เนื่องจากปัญหาการได้รับบัตรสิทธิประโยชน์ฯ ล่าช้า ซึ่งผู้ประกอบการฯ ไม่ได้สิทธิมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 และ 4.ขอให้สามารถเพิ่มเติมรถที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในภายหลังได้