เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เป็นร่างพระราชกำหนดฯ เพื่อให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรง ให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว อีกทั้งเพิ่มหมวดที่เกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงซึ่งหมายความว่าหากเกิดกรณีสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง จะนำ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาใช้แทน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ถือว่ามีความเหมาะสมในการบริหารจัดการมากขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่าส่วนที่มีการจับจ้องกันในโลกออนไลน์ว่าร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวจะเป็นการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายบริหารด้วยหรือไม่นั้นตนขอย้ำว่าร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ต้องการคุ้มครองและดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งสาระในร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดที่ได้รับการมอบหมาย หรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือ วันที่ 26 มี.ค.2563 ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีเนื้อหาสาระใดที่เป็นการกล่าวถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายบริหาร

“เพราะฉะนั้นขอย้ำว่าเป็นการดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ครอบคลุม อาทิ เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้ช่วย อสม. รวมถึงพนักงานกู้ภัย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติในโรงพยาบาลสนามที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วย” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว.