“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนนำมาสู่การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี จะไม่กระทบเสถียรภาพทางการคลังในระยะสั้น โดยรัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้ เนื่องจากโครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว โดย ณ เดือน ก.ค. 2564 สัดส่วนหนี้ในประเทศอยู่ที่ 98.2% ของหนี้สาธารณะรวม ทำให้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศในหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ดังนั้น ความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอัตราแลกเปลี่ยน จึงอาจมีผลกระทบไม่มากนัก นอกจากนี้ โครงสร้างหนี้สาธารณะของไทยราว 94% เป็นหนี้ระยะยาว ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดการ roll over หนี้ที่ครบกำหนดไม่ทันมีอยู่จำกัด นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ต้นทุนของภาระหนี้ ในกรอบเวลาระยะสั้นนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี จุดสนใจอยู่ที่การบริหารจัดการการคลังในระยะกลางถึงยาวที่จำเป็นต้องมีแผนการจัดหารายได้ภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อลดการขาดดุลทางการคลังในระยะข้างหน้า ในขณะที่การใช้งบประมาณต้องก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในระยะสั้น หากระดับหนี้สาธารณะจะสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังจนต้องมีการขยับเพดานก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินภาครัฐมาดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการกู้เงินมาใช้โดยไม่มีความจำเป็น

แต่ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้สาธารณชน โดยเฉพาะผู้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารหนี้สาธารณะให้กลับมายั่งยืน นั่นหมายถึงขนาดการขาดดุลการคลังต้องทยอยลดลงจนเข้าสู่สมดุลในที่สุด

ทั้งนี้ ท่ามกลางรายจ่ายงบประมาณที่ปรับลดได้อย่างจำกัด เนื่องจากในแต่ละปีรายจ่ายงบประมาณที่ต้องชำระตามกฎหมาย อาทิ เงินเดือนและค่าจ้าง การใช้สินค้าและบริการ รวมถึงรายจ่ายดอกเบี้ยที่รวมแล้วมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และรายจ่ายดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น จุดสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการจัดหารายได้เพิ่มเติมของภาครัฐ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีที่อาจจะต้องหาฐานภาษีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มรายได้จัดเก็บเพื่อให้เพียงพอต่อการลดการขนาดการขาดดุลการคลัง อาทิ ภาษีจากฐานสินทรัพย์ เป็นต้น