ในวงประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็นเรื่องปกติภายหลัง บอร์ดวินัยการเงินการคลังของรัฐใช้ช่องมาตรา 50 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 50 ขยายเพดานหนี้ประเทศ

จากเดิมล็อกไว้ห้ามรัฐบาลสร้างหนี้เกิน 60% ต่อจีดีพี ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี เพื่อเปิดทางรัฐบาลกู้เงินเพิ่มในอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงผ่านโฆษกรัฐบาล การขยายเพดานหนี้สาธารณะครั้งนี้เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้รัฐบาลในกรณีที่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ซึ่งอยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564  

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รายงานในที่ประชุม ครม.การขยายเพนดานหนี้สาธารณะครั้งนี้ เป็นเรื่องจำเป็นหากเทียบกับต่างประเทศมีการขยายเพดานหนี้เป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ขยายเพดานไปที่ 80% ต่อจีดีพี

รมว.คลัง ชี้แจงการปรับกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่ม 10% จาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพีทำให้กู้เงินเพิ่มได้ 1.2 ล้านล้านบาท เพื่อนำเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

จากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) พบในอดีต ไทยเคยมีหนี้สาธารณะสูงสุดช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540

ปี 2542 หนี้สาธารณะขึ้นมาที่ 59.22% ต่อจีดีพี จากนั้นปี 2543 พุ่งขึ้นมาแตะ 59.98% ต่อจีดีพี เกือบถึงเส้นตาย 60% กรอบวินัยการเงินการคลัง

ปัจจุบันสถานะหนี้ประเทศ ณ เดือน ก.ค. 2564 ตัวเลขอยู่ที่ 8.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 55.59% ต่อจีดีพี แยกย่อยเป็นหนี้รัฐบาล 7.8 ล้านล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจ 7.8 แสนล้านบาท, หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินฯ (รัฐบาลค้ำประกัน) 2.8 แสนล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,146 ล้านบาท 

สำหรับประเด็นการจัดสรรงบชำระต้นเงินกู้ บอร์ดนโยบายวินัยการเงินการคลังของรัฐได้ออกประกาศช่วงปลายปี 2563 กำหนดสัดส่วนงบประมาณ เพื่อชำระต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ต้องไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 4.0% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ในปี 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งงบชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 3.2% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,000 ล้านบาท

โจทย์สำคัญของรัฐบาลตอนนี้คือต้องวางแผนใช้เงินกู้ ทุกบาท ทุกสตางค์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะหนี้ประเทศเป็นภาระงบประมาณระยะยาว ของคนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน ต้องรับผิดชอบใช้หนี้ร่วมกัน ผ่านระบบภาษี

หากรัฐบาลตั้งงบประมาณชำระหนี้เงินกู้ 1 แสนล้านบาทไปเรื่อยๆ หมายความว่าทุกการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ต้องใช้เวลาผ่อนจ่ายเงินต้น ขั้นต่ำ 1 ทศวรรษ หรือ 10 ปี ยังไม่รวมค่าดอกเบี้ย 

หากมองภาพใหญ่หนี้ประเทศ 8.9 ล้านล้านบาท ถ้าใช้อัตราผ่อนจ่าย 1 แสนล้านบาทต่อปี เท่ากับ ต้องใช้เวลาผ่อนจ่ายเฉพาะเงินต้นไม่ต่ำกว่า 90 ปี เกือบๆ 1 ศตวรรษ นาทีนี้การวางแผนใช้เงินกู้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก!.