นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์ ทีบี-เซิร์ต ว่า ธปท.มีแผนป้องกันภัยไซเบอร์โลกการเงิน โดยจะจับมือกับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร(TB-CERT) ซึ่งเป็นศูนย์ฯ ภายใต้สมาคมธนาคารไทย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับภาคการเงินการธนาคารของประเทศ และขยายไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ ด้วย โดยมี 4 ด้านที่จะต้องร่วมมือหลังจากนี้

สำหรับความร่วมมือ 4 ด้าน คือ ด้านแรกยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้านที่ 2 การพัฒนามาตรฐานหรือกระบวนการในการรับมือภัยไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแนวปฏิบัติการใช้เอพีไอ และการพัฒนากระบวนการป้องกันหรือตอบสนองการหลอกลวงผ่านข้อความเอสเอ็มเอสที่จะต้องร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ด้านที่ 3 การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางเทคนิคเชิงลึกที่ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อให้มีศักยภาพในการป้องกัน ติดตาม และรับมือภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ และด้านสุดท้าย คือ การสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจพื้นฐานในการใช้บริการทางการเงินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับประชาชน

ทั้งนี้ที่ผ่านมา TB-CERT และ ธปท. ได้ร่วมกันป้องกันและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างความเข้มแข็งพื้นฐานให้กับภาคการธนาคาร ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคามต่าง ๆ การสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในระดับต่าง ๆ ให้มีความรู้ ความพร้อมในการป้องกัน รับมือและตอบสนองกับภัยไซเบอร์รวมทั้งร่วมมือกันซักซ้อมการตอบสนองกรณีเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ในภาคการธนาคาร

นอกจากนี้ได้ขยายการสร้างภูมิคุ้มกันไปสู่ภาคการเงิน โดยการร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งภาคตลาดทุน (TCM-CERT) และภาคธุรกิจประกันภัย (Ti-CERT) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และร่วมกันสร้างหลักเกณฑ์ กระบวนการ บุคลากรในการรับมือภัยไซเบอร์ในภาคการเงิน

นายรณดล กล่าวว่า โควิด-19 ในปัจจุบันที่มีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและรูปแบบธุรกิจไปสู่นิวนอร์มัล ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการจับจ่ายใช้สอยในลักษณะออนไลน์ที่สูงขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันมียอดการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์กว่า 22 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามากกว่า 70% ประชาชนมีการลงทะเบียนเปิดใช้บริการพร้อมเพย์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 57 ล้านบัญชีผู้ใช้งานแล้ว ในขณะเดียวกันรูปแบบการทำงานก็เปลี่ยนแปลงไป บริษัท องค์กร หรือสถาบันการเงินเอง ก็มีการปรับรูปแบบการทำงานที่บ้านที่ต้องพึ่งพาโลกอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้โลกแบบนิวนอร์มัลมาเร็วกว่าที่คาดคิด

“ภัยคุกคามทางไซเบอร์จึงเป็นความเสี่ยงที่ต้องยกระดับการบริหารจัดการและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันตามบริบทที่ปรับเปลี่ยนไป ในยุคดิจิทัลนี้ ภาคการเงินการธนาคารเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศที่สำคัญและเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการโจมตีจากผู้ไม่ประสงค์ดี ประกอบกับความเชื่อมโยงถึงกันของระบบและบริการที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง อาจส่งผลต่อไปยังอีกแห่งหนึ่งจนลุกลามเป็นวงกว้าง และทวีความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วดังนั้น สถาบันการเงินแต่ละแห่งจึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ผ่านการมีความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความพร้อมในการรับมือต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ”