เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ว่า ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องหมดไป เพราะเป็นสิ่งตั้งขึ้นตามอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กฎหมายฉบับใหม่ ไม่ว่าเป็นในรูปของร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อฯ หรือร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ มีหมวดที่ว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เปิดช่องให้สามารถตั้งหน่วยหรือศูนย์ขึ้นมาทำงานแทน ศบค. ซึ่งกรณีของโรคโควิด รัฐบาลสามารถใช้ชื่อ ศบค. สำหรับการตั้งศูนย์ใหม่ได้ ส่วนโครงสร้างหรือองค์ประกอบของศูนย์หรือหน่วยที่จะถูกตั้งขึ้นใหม่เป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายฉบับใหม่
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กฎหมายใหม่ดังให้อำนาจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด อาทิ เรื่องวัคซีน การตั้งโรงพยาบาลสนาม เรื่องยา การห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) การห้ามคนชุมนุมหรือรวมตัวกัน การบังคับสวมหน้ากาก แต่ไม่ใช่ข้อห้ามแบบเดียวกับที่มีอยู่ในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เมื่อถามว่าจากกรณีของ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ทำให้หลายคนเกิดความสับสน เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ นายวิษณุ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือกฎหมายเพื่อจัดการและควบคุมโรคติดต่อ แต่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจชัดว่าจะทำเป็นร่าง พ.ร.บ. เสนอต่อรัฐสภาหรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาหลายเดือน อาจล่าช้า ซึ่งระหว่างหลายเดือนตามที่ว่านั้นทำให้ต้องมี ศบค.และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป แต่รัฐบาลเห็นว่าขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน และต้องการให้เป็นการบริหารงานด้านสาธารณสุขจึงเลือกออกเป็น พ.ร.ก.ซึ่งหลังจากร่าง พ.ร.ก.ฉบับใหม่เริ่มใช้ต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบโดยเป็นการพิจารณาวาระเดียวซึ่งถ้าผ่านเสนอต่อวุฒิสภา และถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็บังคับใช้ พ.ร.ก.นี้ต่อไปโดยไม่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง แต่ถ้าสภาฯ ไม่ให้ความเห็นชอบต้องเลิกใช้ พ.ร.ก.และรัฐบาลอาจต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลอยากทำเป็นร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอต่อสภาและดำเนินการเหมือนกับการออก พ.ร.บ.อื่นๆ.