สะเทือนไปทั่วทั้งวงการหลังจากไทยพาณิชย์ที่หันมาพลิกโฉมธุรกิจอีกครั้ง โดยในครั้งนี้กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยจัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุก ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 68 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้า 200 ล้านคนจาก 16 ล้านคนในปัจจุบัน ดันมาร์เก็ตแคปสู่ 1 ล้านล้านบาท

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ซีอีโอ เอสซีบี เอกซ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.64 คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เสนอเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย.64 เพื่อ 1.ขออนุมัติจัดตั้ง เอสซีบี เอกซ์ เป็นบริษัทแม่ ซึ่งไม่ใช่ธนาคาร 2.ขอมติผู้ถือหุ้นของธนาคารทำการแลกหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นธนาคารกลางเป็นผู้ถือหุ้น เอสซีบี เอกซ์ และ 3.นำเอสซีบี เอกซ์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนธนาคารไทยพาณิชย์ โดยยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ คือ SCB

นอกจากนี้จะขอผู้ถือหุ้นอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลพิเศษ 70,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่ง 70% ใช้ในการทำเรื่องโอนธุรกิจ และใช้จัดตั้งบริษัทใหม่ ส่วนที่เหลือ 30% จะทยอยใช้ดำเนินการภายในปี 65 ไม่ได้ใช้ทั้งหมด และบางส่วนจะเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเอสซีบี เอกซ์ ด้วย

อาทิตย์ นันทวิทยา

ทั้งนี้หากผู้ถือหุ้นเห็นชอบทั้งหมด เอสซีบี เอกซ์ จะกลายเป็นบริษัทแม่ จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คล้ายกับโฮลดิ้งส์ แบ่งเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธุรกิจธนาคารเหมือนเดิม ยังดูแลรับฝากเงินเหมือนเดิม และบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งแยกออกจากธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ ตัวอย่าง เช่น 1.บริษัท ออโต้ เอกซ์ จำกัด 2.บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด 3.บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด 4.บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ จำกัด 5.บริษัทบริหารสินทรัพย์ คาร์ด เอกซ์ จำกัด

6. บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด 7.บริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด 8.บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด 9.บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด 10.บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด 11.บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด 12.บริษัท มันนิกซ์ จำกัด 13.บริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด และ 14. SCB-CP Group JV เป็นต้น

“การจัดตั้งบริษัทแม่ต้องการมุ่งเน้นการเติบโต โดยที่ไม่ต้องห่วงหน้า พะวงหลัง ไม่ต้องมาห่วงเรื่องจัดการความเสี่ยงเหมือนกับธนาคารว่าทำธุรกิจนี้แล้วจะกระทบธนาคารอย่างไรหรือเปล่า และในส่วนธุรกิจธนาคารก็ยังจะเดินได้อย่างมั่นคง ขณะที่บริษัทที่เป็นธุรกิจใหม่จะได้ทำธุรกิจคล่องตัวและไปสู่จุดเป้าหมายคือนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 3-5 ปีข้างหน้า”

นายอาทิตย์ กล่าวว่า แนวโน้มของการถูกดิสรัปชั่นนั้นเริ่มมาเมื่อ 6 ปีก่อนและชัดเจนมากในอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยพาณิชย์ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลา 3 ปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด ไทยพาณิชย์จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้ ไทยพาณิชย์จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้านี้

นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว ไทยพาณิชย์ จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ หลังจากนำร่องด้วยโรบินฮู้ด ฟู้ดดิลิเวอรี่ เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท SCB Tech X และบริษัท Data X ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากนี้ไทยพาณิชย์จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน เอสซีบี เท็นเอกซ์ และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ด้านต่างๆ ในรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว

นายอาทิตย์ ยังบอกว่า “SCB จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ ไทยพาณิชย์จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้”

ทำให้หลังจากนี้ยังต้องจับตากันต่อไปว่า ธุรกิจธนาคารในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ จะทำให้โลกการเงินในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด และยังต้องจับตา “ธนาคาร” อื่นๆ จะมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง