นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ว่า ในปี 70 รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเปิดให้บริการรวม 14 เส้นทาง กว่า 500 กิโลเมตร (กม.) รวมถึงเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนรถไฟทางคู่สายต่างๆ จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมพัฒนา และผลิตบุคลากรด้านระบบรางตั้งแต่วันนี้ เพื่อมารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบรางครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาด้านระบบรางของไทยอย่างยั่งยืน ในการผลิตและพัฒนาบุคลากร การสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ผ่านความร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมผนึกกำลังกันมากเช่นนี้ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของความร่วมมือทางด้านวิชาการที่สามารถนำไปต่อยอดกับการคมนาคมขนส่งทางบก น้ำ และอากาศด้วย อันจะช่วยให้งานวิชาการของไทยในด้านการคมนาคมขนส่งก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ขอให้คณะกรรมการร่วมที่จะแต่งตั้งหลังจากนี้ ได้พิจารณาให้ความสำคัญว่าแต่ละปีจะต้องใช้บุคลากรด้านระบบรางในตำแหน่งๆ จำนวนเท่าใด และอย่างไร รวมทั้งให้พิจารณาค่าตอบแทนว่าจะทำให้บุคลากรเหล่านี้มีความมั่นคงได้อย่างไร เพื่อให้ลูกหลานในวันนี้ได้มีอาชีพที่ยั่งยืนในชีวิตการทำงานในอนาคต นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมให้มีการผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ และรถขนส่งทางราง โดยใช้วัสดุภายในประเทศ ตามนโยบาย Thai First ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ให้ไปสู่การปฏิบัติได้จริงด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน  

ด้านนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี (ปี 64-69) ซึ่งภายหลังลงนามความร่วมมือแล้วภาคีทั้ง 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ขร., สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน), หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน, สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน จะตั้งคณะกรรมการร่วม (Steering Committee) มีอธิบดี ขร. เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และขอบเขตของความร่วมมือต่อไป

นายกิตติพันธ์ กล่าวต่อว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จะส่งผลให้การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางของไทยในอนาคตก้าวหน้า และพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว  อีกทั้งจะสนับสนุนให้บุคลากรด้านระบบรางของไทยมีศักยภาพ สามารถสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ ด้านระบบรางไปสู่การปฏิบัติ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

นายกิตติพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับขอบเขตความร่วมมือ ได้แก่ 1.พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา 2.สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา 3.ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 4.วิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน

5.สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง 6.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ 7.จัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ 8.สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า 9.ใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ 10.สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 11.ร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง