เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้แจ้งเบาะแสว่ามีผู้อ้างบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ และบริษัทซึ่งตั้งอยู่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีการโฆษณาและเปิดรับสมัครและจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ไต้หวัน ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้ไปจริง ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าบริษัทที่อยู่สมุทรปราการมีลักษณะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนไฟฟ้า มีพนักงานเป็นคนไทย ซึ่งบริษัทไม่มีการรับสมัครและจัดส่งคนไปทำงานที่ไต้หวัน และไม่รู้จักกับผู้โพสต์ข้อมูลดังกล่าว ไม่ใช่พนักงานของทางบริษัท ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน จึงแจ้งข้อมูลให้ผู้จัดการบริษัททราบและจะดำเนินการเอาผิดผู้โพสต์ข้อความทางโซเชียลต่อไป ส่วนผลการตรวจสอบบริษัทที่จังหวัดปทุมทานี พบว่ามีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ประตูรั้วถูกล็อกกุญแจไว้ และจากการสอบถามผู้อยู่อาศัยข้างเคียงได้รับข้อมูลว่า บ้านหลังนี้ปิดไม่มีคนเข้าออกมาหลายเดือนแล้ว 

ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน 2528 มาตรา 91 ตรี ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ตามบันทึกประจำวัน ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ทั้งนี้ จะได้มีหนังสือถึง บก.ปคม. เพื่อขอความร่วมมือในการเร่งรัดการออกหมายจับกับบุคคลที่ได้หลอกลวงคนหางานดังกล่าวต่อไป

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดี กกจ. กล่าวว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2566 มีคนไทย 34 ราย ร้องทุกข์ต่อกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ว่า ถูกกลุ่มนายหน้าจัดหางานเถื่อน อ้างเป็นเจ้าของบริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งใช้ภาพถ่ายบริษัทแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ อ้างเป็นที่สอบสัมภาษณ์และทดสอบความพร้อมทางร่างกายก่อนส่งไปทำงานไต้หวัน โดยหลอกลวงว่าสามารถพาไปทำงานที่ไต้หวัน ในตำแหน่ง พนักงานฝ่ายผลิต เงินเดือนประมาณ 26,400 เหรียญไต้หวัน หรือประมาณ 29,300 บาท สัญญาจ้าง 3 ปี สามารถต่อสัญญาจ้างได้ โดยคิดค่าดำเนินการคนละ 30,000-71,000 บาท แต่สุดท้ายไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่ตกลงไว้ จึงร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือติดตามเงินคืนและดำเนินคดีกับนายหน้าจัดหางานเถื่อนดังกล่าว จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบมีผู้เกี่ยวข้องร่วมขบวนการ 5 คน ทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ และไม่ได้จดทะเบียนเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจัดหางานฯ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการหลอกลวง ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางานฯ 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า กกจ. มีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน ทำหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวัง การโฆษณาจัดหางานบนโซเชียลฯ อย่างเข้มงวด หากผู้ใดโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กกจ. ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ผู้ใดที่จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ขอประชาชนอย่าหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ใด ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานกับกรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd หรือสอบถามได้ที่สายด่วน 1506 กด 2 กกจ.