เมื่อวันที่  7 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ  สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ จัดงาน “สืบงบ 67 สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพิจารณางบประมาณของประเทศไทย”  โดยเป็นการเชิญชวนประชาชนที่สนใจมาร่วมตั้งโจทย์งบประมาณที่อยากรู้ และอยากวิเคราะห์เกี่ยวกับ  งบปี 67 เช่น งบอุดหนุนเฉพาะกิจของท้องถิ่น, งบแลนด์บริดจ์, งบอุดหนุนเด็ก ฯลฯ และนำไอเดียของประชาชนเหล่านั้น มาวิเคราะห์และนำเสนอว่าสอดคล้องกับนโยบายและตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปการแปลงไฟล์งบประมาณ การจัดสัดส่วน และการตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 120 คน เป็นคนที่สนใจเข้ามาแบ่งกลุ่มกัน ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งตอนนี้ได้แปลงเป็นไฟล์ Excel แล้ว มีการจัดกลุ่มในแต่ละด้าน เช่น ด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อม คมนาคม จากนั้นจะให้แต่ละกลุ่มนำเสนอข้อมูลว่าได้เห็นอะไรบ้าง ตอบโจทย์ต่อความต้องการและนโยบายที่อยากเห็นหรือไม่

เมื่อถามว่า  หลังจากผ่านวาระแรก ชั้นรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้ว มีอะไรที่ต้องติดตามต่อบ้าง นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฐานะกมธ.ติดตามงบประมาณฯ อยากให้แบ่งอนุกรรมาธิการที่ศึกษารายละเอียด 1.เป็นรายประเด็น ที่ผ่านมาเราจะแบ่งอนุฯ ตามของที่ซื้อ เช่น สส.พิจารณาว่าตึกไหน สร้างแพงไปหรือไม่ คอมพิวเตอร์เครื่องไหนถูกไปหรือไม่ เราคิดว่าเปลี่ยนใหม่ดีกว่า เป็นโครงการไหนที่เหมาะกับปัญหานั้นๆ ของประชาชนมากกว่า 2.อยากติดตามคือความโปร่งใสของข้อมูล เพราะข้อมูลที่นำเสนอในอนุกรรมาธิการมีความละเอียดมากกว่าเอกสารขาวคาดแดง และที่ผ่านมายังเป็นเอกสารกระดาษอยู่ จึงอยากเปลี่ยนข้อมูลในส่วนนี้ให้วิเคราะห์ต่อได้ง่าย 3.ปีนี้เป็นปีแรก ที่สภามีข้อเสนอส่งถึงฝ่ายบริหารได้ในการดำเนินมาตรการที่เป็นประโยชน์ เช่น การจัดสรรงบบางครั้งที่นายกรัฐมนตรี ได้บอกไว้ว่ามาตรการหลายอย่างไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เช่น เราอยากให้งบเช่ารถยนต์ในปีต่อๆ ไป เป็นรถ EV ได้หรือไม่ ไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะแต่ผลักดันได้หลายเรื่องด้วย

“ฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ให้ออกมายืนยันถึงสิ่งที่ผมเรียกร้องให้รัฐบาลส่งไฟล์ดิจิทัล เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการพิมพ์ด้วย” นายณัฐพงษ์  กล่าว

เมื่อถามว่า  กังวลอะไรในชั้นกมธ.ที่จะเข้าไปผลักดันของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่สส.ทำได้คือตัดงบประมาณอย่างเดียว สิ่งที่เราจะต้องเหน็ดเหนื่อยในการตัดงบประมาณต่อจากนี้ 2-3 เดือน เราคิดว่าอยากเรียกร้องให้รัฐบาลแปรญัตติกลับมา โดยพิจารณาว่าโครงการใดหรืองบประมาณใดที่จะตอบโจทย์ต่อนโยบายมากขึ้น เราไม่อยากให้สิ่งที่แปรญัตติกลับไปอยู่ที่งบกลางทั้งหมด ให้นายกฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการคนเดียว ทำให้สภาไม่สามารถตรวจสอบได้

เมื่อถามว่า  ห่วงเรื่องการตบทรัพย์ในชั้นกรรมาธิการหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ค่อนข้างห่วง และเป็นข้อเรียกร้องที่เราบอกว่าการตั้งอนุกรรมาธิการในชั้นวิสามัญ ไม่ควรแบ่งตามของที่ซื้อ ที่ผ่านมาพอแบ่งตามของที่ซื้อ ก็จะมีข้อครหาตามมาว่าใครสนิทกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ไปอยู่อนุกรรมาธิการตึกและสิ่งก่อสร้าง ตนคิดว่าเพื่อป้องกันข้อครหา ควรจะเปลี่ยนวิธีการแบ่งอนุกรรมาธิการใหม่ตามประเด็น.