เมื่อวันที่  9 ม.ค. นายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า ตนขอเสนอแนะไปยังรัฐบาล และคณะทำงานด้านกฎหมายของรัฐบาล ให้อ่านบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังทำข้อหารือไปยังกฤษฎีกาสอบถามว่ารัฐบาลสามารถออกพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 5 แสนล้านบาทได้หรือไม่ อย่างไร ด้วยความละเอียด รอบคอบและระมัดระวัง ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากคนของรัฐบาลตีความว่าทำได้จะถือเป็นความเสี่ยงของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ที่เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และตนมองว่าหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องดังกล่าวปลายทางต้องถูกส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีผู้ที่ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

“ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดทำโครงการนี้เพราะตามบันทึกของกฤษฎีกาเท่าที่ทราบกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้เดินหน้าได้ยาก เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หลายมาตรา ดังนั้นทางออกตอนนี้ รัฐบาลขอโทษกับประชาชน และเลิกโครงการ หากจะเดินหน้าทำต่อไป ผมมองว่ามีสิทธิที่จะนายกฯ อาจถูกเปลี่ยนตัวได้” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวต่อว่า หากรัฐบาลจะออกพระราชกำหนดกู้เงิน ตนมองว่าไม่อยู่ในข้อคำถามที่สอบถามไปยังกฤษฎีกา เพราะเจาะจงไปที่การออกเป็น พ.ร.บ. ขณะเดียวกันในความเห็นของกฤษฎีกาเท่าที่ตนทราบ คือรัฐบาลเดินหน้าออกเป็น พ.ร.บ.ได้แต่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้เป็นที่ประจักษ์  ซึ่งมีรายละเอียดที่เป็นเงื่อนไข คือ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน, เป็นเรื่องต่อเนื่อง เป็นเรื่องแก้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ  และไม่สามารถออกเป็นกฎหมายงบประมาณประจำปีได้ทัน แต่ที่ผ่านมาพบว่าสถานะของประเทศและความจำเป็นของการออกพ.ร.บ.กู้เงินไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า นอกจาก 2 มาตราดังกล่าวแล้ว ทราบว่ายังมีเงื่อนไขที่กฤษฎีกากำหนดให้รัฐบาลต้องทำให้เกิดความประจักษ์ ในอีก 4 มาตราของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง คือ มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 49 ซึ่งเป็นกรอบกำหนดให้ ครม. ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ คำนึงถึงเสถียรภาพ เกิดความคุ้มค่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ไม่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาพบว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล เป็นโครงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เป็นประชานิยมชัดเจน  

“ผมขอให้รัฐบาลหยุดทำเรื่องนี้ เลิกโครงการแจกเงิน  และหันมาทำโครงการที่เป็นประโยชน์ เกิดประโยชน์กับประเทศในระยะยาว เช่น ช่วยประชาชนกลุ่มเปราะบางตามแนวทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดเหลื่อมล้ำรายหมู่บ้านแก้ความยากจน เอาเงินไปแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้าที่มีปัญหาไม่ใช่แจกเงินฟรี รวมถึงแก้ปัญหาระยะยาว ผ่านการแก้ระบบกฎหมาย รื้อโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคการค้า จัดการระบบภาษี โครงสร้าางไฟฟ้าพลังงาน เป็นต้น และผมขอฝากเป็นครั้งสุดท้ายว่าด้วยเงื่อนไขที่กฤษฎีกาให้ความเห็นรัฐบาลทำได้ยากมาก และรัฐบาลอย่าใช้ช่องของสภา วุฒิสภา หรือศาลรัฐธรรมนูญคว่ำ รัฐบาลควรหยุดและแถลงขอโทษแฟนคลับ” นายสมชาย กล่าว

เมื่อถามว่า  หากไม่ได้ทำ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ตามนโยบายหาเสียงหลายเรื่องทำไม่ได้ ทั้งค่าแรง 400 บาท เรื่องเรือดำน้ำ  เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของเพื่อไทย แต่เป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่ ครม.ต้องพิจารณาและรับผิดชอบร่วมกัน  ส่วนรับผิดชอบเป็นเรื่องการเมือง ไม่ถึงต้องลาออก  แค่ขอโทษประชาชนจะเข้าใจ

เมื่อถามว่าต้องถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า “หากเดินหน้า อาจต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี”.