เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง รวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ได้แก่ 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะหรือรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. …. 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้ประเภทที่สาม พ.ศ. …. และ 3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สาม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกเก็บลดหย่อน หรือยกเว้นค่าใช้น้ำ พ.ศ. …. โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับนี้ ประกอบด้วย 1.ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท พ.ศ. …. กำหนดลักษณะการใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย ประเภทที่ 2 การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อการประปา มีอัตราการใช้น้ำบาดาล 2,000-3,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวันต่อบ่อ หรือใช้น้ำผิวเดินไม่เกิน 30,000 ลบ.ม.ต่อวัน ประเภทที่ 3 การใช้น้ำสาธารณะจำนวนมาก อาทิ ใช้น้ำบาดาล น้ำผิวดินในแม่น้ำ ลำน้ำ คลองส่งน้ำ น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำ เกิน 3,200 ลบ.ม.ต่อวัน จนส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของการนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือพื้นที่อื่นในลักษณะเดียวกัน
นางรัดเกล้า กล่าวว่า 2.ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 3 กำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่ 2 หรือภาคอุตสาหกรรม และประเภทที่ 3 ผู้ใช้น้ำปริมาณมาก ได้รับการลดค่าธรรมเนียมครึ่งหนึ่งสำหรับการใช้น้ำสาธารณะในการประกอบธุรกิจในพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ส่วนโครงการที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม คือหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจใช้น้ำสาธารณะเพื่อทำประปาชุมชน 3,400 คนต่อวัน ในพื้นที่ของตน เฉพาะกรณีประปาหมู่บ้านที่กำลังการผลิตไม่เกิน 30 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง การผลิตน้ำดื่มสำหรับบริโภคในโรงเรียน และการใช้น้ำในโรงพยาบาล การใช้น้ำสาธารณะเพื่อผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ของตนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร
3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมและผู้ใช้น้ำปริมาณมาก และกำหนดวิธีคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมและผู้ใช้น้ำปริมาณมาก ดังนี้ ค่าใช้น้ำ = อัตราค่าใช้น้ำ x ปริมาณน้ำที่ใช้ โดยสูตรการคำนวณค่าใช้น้ำสำหรับการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมและผู้ใช้น้ำปริมาณมาก ประกอบด้วยปัจจัย ได้แก่ ค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการเก็บค่าใช้น้ำ ต้นทุนการอุปทานน้ำ เงินสำรองสำหรับการบรรเทาวิกฤติน้ำ เมื่อมีการขาดแคลนปริมาณการใช้น้ำของผู้ใช้ที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน ประสิทธิภาพการส่งน้ำ และปริมาณอุปทานน้ำทั้งหมด โดยให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดอัตราค่าใช้น้ำที่แตกต่างกันได้ลักษณะเฉพาะของทรัพยากรน้ำสาธารณะและอัตราค่าใช้น้ำสำหรับน้ำบาดาลจะต่ำกว่าอัตราค่าใช้น้ำผิวดินไม่ได้ และให้ทบทวนอัตราค่าใช้น้ำทุก 5 ปี
“ร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับนี้กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยการใช้น้ำประเภทที่ 1 ไม่ต้องขอรับใบอนุญาต และไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำ รวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ไม่ให้ใช้กับน้ำบาดาลตามกฎหมายว่าด้วยน้ำบาดาล เพื่อควบคุมการใช้น้ำบาดาลและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อแหล่งน้ำบาดาล” นางรัดเกล้า กล่าว
นางรัดเกล้า กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งความเห็นว่า ระยะเวลาการบังคับใช้ควรจะเริ่มขึ้นหลังจากประกาศร่างกฎกระทรวงดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 2 ปี เพราะเป็นเรื่องใหม่ และไม่เคยมีการแจ้งให้ลงทะเบียนขอใบอนุญาตหรือจัดเก็บค่าใช้จ่ายนี้มาก่อน จึงควรให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากกฎกระทรวงเหล่านี้ได้มีเวลาเตรียมตัวและดำเนินการ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีข้อเสนอแนะว่าควรเปิดเผยข้อมูลว่าใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ซึ่งต้องถูกเรียกเก็บค่าใช้น้ำ