เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ข้าราชการกระทรวงแรงงาน โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ

นายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า หนึ่งในความท้าทายทางด้านแรงงานในขณะนี้  คือโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัย ซึ่งอย่าไปมองว่าคนเหล่านี้เป็นภาระ แต่จะทำอย่างไรให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นเพียงตัวเลขแต่ยังมีสุขภาพแข็งแรง สมองและจิตใจยังดี สามารถพัฒนาทักษะสอดคล้องกับตลาดแรงงานใหม่ ทำงานสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศชาติได้ อีกอย่างคือตอนนี้แรงงานไทยขาดแคลนแน่นอนเพราะคนมีการศึกษาสูงขึ้น จึงมีทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับตัวเอง นอกจากนี้ สังคม ครอบครัว มีการเปลี่ยนแปลง คนแต่งงานน้อยลงหรือแต่งงานแล้วก็อยู่กัน 2 คนผัวเมีย ไม่อยากมีลูกเพราะมองว่าเป็นการเพิ่มภาระ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมสร้างให้เกิดความกลัว อีกทั้งยังมีเทรนด์การทำงานใหม่ หันมาทำอาชีพอิสระมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงแรงงานจะต้องปรับให้ทัน โดยเฉพาะการปรับปรุงสวัสดิการ รวมถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดี มีมาตรฐาน ตามสิทธิสวัสดิการที่ดีของสวัสดิการอื่นๆ ซึ่งหากเสนอมารัฐบาลก็พร้อมสนับสนุน เพื่อให้การดำรงชีพของแรงงานเป็นไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ sdg

“ตอนนี้มีวิธีการทำงานหลายอย่างที่อยากฝากรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นในการทำงานบ้าง เช่น การ work from home ซึ่งเดิมเป็นนโยบายนำมาใช้หาเสียงก่อนจะมีการระบาดของโรคโควิด เพราะตอนนั้นมีปัญหาเรื่องฝุ่นพิษจำนวนมาก โดยจะจัดให้มีออฟฟิศรวม (Co office) 4 มุมเมือง ตามชานเมืองต่างๆ  โดยในออฟฟิศนั้นจะต้องมีระบบเทคโนโลยีสื่อสารที่ดี แต่พอมีโควิดก็ได้นำการทำงานที่บ้านมาใช้เพื่อลดการใกล้ชิด ลดการแพร่ระบาดของโรค จากเดิมที่กลัวว่าการทำงานที่บ้านจะทำให้ลดผลิตผลลง แต่ปรากฏว่าเมื่อนำมาใช้แล้วทำให้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานไม่ว่าจะค่าเดินทาง ค่าลิฟต์ ค่าไฟต่างๆ ก็ลดลงด้วย บางคนทำงานที่บ้านแล้วทำให้ผลงานมากกว่า จึงทำให้ทำนโยบายนี้ต่อไป แต่อาจจะยกเว้นแรงงานบางประเภท ที่ยังต้องเดินทางอยู่ แต่อย่างน้อย การส่งเสริมให้ทำงานที่บ้าน ก็สามารถลดการเดินทาง ลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในส่วนของค่าแรงก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหาจุดสมดุลให้ได้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งตนก็พร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งหากเรียกร้องค่าแรงเยอะ ฝั่งนายจ้างอาจจะหันไปใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพราะมองว่า เครื่องจักรไม่เรียกร้องเงินเดือนเพิ่ม ไม่เรียกร้องโบนัสเพราะฉะนั้นอย่ารอให้ถึงวันนั้น  เพราะประเทศไทยยังไม่พัฒนามากเพียงพอที่จะทำให้ประชากรสามารถอยู่รอดได้ โดยการตั้งธุรกิจของตัวเองขึ้นมา ดังนั้น ต้องหาจุดสมดุลเรื่องค่าแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างไร เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ พื้นที่ไหน อุตสาหกรรมประเภทใด เรื่องเหล่านี้จะต้องลงไปในรายละเอียด จริงๆ เรื่องนี้จะไปโทษรัฐบาลก็ไม่ได้เพราะถ้าขึ้นค่าแรงมากเท่าไหร่ รัฐบาลยิ่งสนับสนุน เพราะแรงงานคือประชาชนที่รัฐบาลต้องดูแล แต่เราต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ก้าวข้ามให้ได้ ส่วนตัวไม่กังวลเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถพูดบนโต๊ะเจรจาของ 3 ฝ่ายได้

ด้าน นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานพร้อมน้อมรับข้อแนะนำของนายอนุทินไปดำเนินงานทางด้านแรงงานต่อไป อย่างเรื่องการเพิ่มค่าแรงนั้นจะมีการเพิ่มแน่นอน แต่จะต้องระวังเรื่องการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานคน ดังนั้นต้องพัฒนาฝีมือควบคู่กันไป รวมถึงการยืดอายุการเกษียณ จาก 55 ปี เป็น 60 ปี เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนจากปัญหาเด็กเกิดน้อย ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลที่มองว่าน้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นั้น ขอยืนยันว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีการดูแลรักษาพยาบาลผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 ไม่น้อยกว่าบัตรทองแน่นอน ส่วนมาตรา 40 อาจจะมีการรักษาไม่ได้ครอบคลุม แต่มีการดูแลด้านอื่นๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีนโยบายการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1.ด้านทักษะดี ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง Up skill for More Earn  รองรับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 2. ด้านมีงานทำ บริการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และเพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา และ 3. ด้านหลักประกันสังคมเด่น ให้บริการที่สะดวก รวดเร็วผ่านระบบ E-Service พัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ขยายการลงทุนของกองทุนประกันสังคมทั้งในและต่างประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย สร้างผลตอบแทนร้อยละ 5 ต่อปี สนับสนุนทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ กระทรวงแรงงานจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อจะทำฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยต่อไป