รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ส่งหนังสือถึง 7 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคมในคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในคณะกรรมการคัดเลือก, ประธานคณะกรรมการคัดเลือก, กรรมการผู้แทนสำนักอัยการสูงสุดในคณะกรรมการคัดเลือก และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็น “การดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม”

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ในหนังสือดังกล่าวได้แจ้งว่า กระบวนการประกวดราคา (ประมูล) โครงการฯ ต้องเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค.63 รวมถึงกระบวนการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการประมูลไว้เดิม นั่นก็คือ เกณฑ์ประมูลที่ต้องพิจารณาจากข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากผู้ยื่นข้อเสนอได้คะแนนด้านเทคนิคไม่น้อยกว่า 70% จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป และใครเสนอราคาต่ำสุดก็จะเป็นผู้ชนะประมูล ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และหลักเกณฑ์การประเมินการคัดเลือกเอกชนให้ได้ผู้ชนะการคัดเลือกที่ถูกต้องนั้น รัฐต้องได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐน้อยที่สุด

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในหนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า หากคณะกรรมการคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผู้ชนะการคัดเลือก ด้วยการใช้คะแนนจากซองเทคนิคมาพิจารณาร่วมกับซองราคา ทางบริษัทฯ จะขอโต้แย้งและคัดค้าน เพราะคดีที่ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก รวมถึงเจ้าพนักงานที่ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 7 คน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง และยังไม่สิ้นสุด และศาลปกครองกลางเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่ามิให้ใช้บังคับ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายมาตราใดกำหนดให้ดำเนินการดังเช่นว่านั้นไว้ บริษัทฯจึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการดำเนินการโครงการนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีความโปร่งใสและนำไปสู่การแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป.