สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ว่านายเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) กล่าวเมื่อวันศุกร์ เกี่ยวกับกำหนดการขึ้นเวทีกล่าวถ้อยแถลง ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) ของบรรดาผู้นำโลกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งทำหน้าที่ผู้แทนรัฐบาลนั้น "จะไม่มีผู้แทนจากเมียนมา" โดยปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม 
ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะ ว่านายจอ โม ตุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำยูเอ็น ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในยุครัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี แสดงความประสงค์กล่าวถ้อยแถลงบนเวทียูเอ็นจีเอ ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการอภิปรายทั่วไป 
อย่างไรก็ตาม ต่อมามีรายงานเกี่ยวกับ "การตกลงเป็นการภายใน" ระหว่างสหรัฐ จีน และรัสเซีย ในการที่รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลมอสโกจะไม่คัดค้านการอยู่ในตำแหน่งของนายจอ โม ตุน หากนักการทูตของเมียนมาไม่ขึ้นเวทีอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ ขณะที่เจ้าตัวยืนยันในเวลาต่อมา จะไม่กล่าวถ้อยแถลงบนเวทียูเอ็นจีเอ และยอมรับว่า "รับทราบบ้าง" เกี่ยวกับกระแสข่าวเรื่อง "ข้อตกลง" ระหว่างสหรัฐ จีน และรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) และคณะกรรมาธิการรับรองเครดิตทางการทูต
ขณะที่อีกประเทศหนึ่งซึ่ง "มีปัญหาคล้ายคลึงกัน" คืออัฟกานิสถาน แต่โฆษกยูเอ็นยืนยันว่า นายกูลัม ไอแซคไซ เอกอัครราชทูตอัฟกานิสถานประจำสหประชาชาติ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในสมัยประธานาธิบดีอัชราฟ กานี จะขึ้นเวทีกล่าวถ้อยแถลง ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ โดยยูเอ็นยังไม่มีความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อการที่รัฐบาลตาลีบันที่ปกครองอัฟกานิสถานอยู่ตอนนี้ ต้องการให้นายอาเมียร์ ข่าน มุตตาคี รมว.การต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลง และเสนอชื่อนายซูฮาอิล ชาฮีน โฆษกสำนักงานกลุ่มตาลีบันที่กาตาร์ ให้ทำหน้าที่เอกอัครราชทูตประจำยูเอ็น.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES