เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์พายุ “เตี้ยนหมู่” ส่งผลทุกพื้นที่ของ จ.ศรีสะเกษ มีฝนตกหนักตลอดทั้งวันทั้งคืนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ไหลเข้าท่วมภายในชุมชน และเส้นทางสัญจร ซึ่ง นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดศรีสะเกษ นำกำลังเจ้าหน้าที่ ปภ. เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

ขณะที่อ่างเก็บน้ำทั้ง 16 แห่งในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินและไหลเอ่อล้นสปิลเวย์ เกินความจุเก็บกัก 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยคล้า อ.เมือง มีปริมาณน้ำ 100.57 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำหนองสิ อ.ขุนหาญ มีปริมาณน้ำ 102.19 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยทา อ.ขุนหาญ มีปริมาณน้ำ 101.97 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย อ.กันทรลักษ์ มีปริมาณน้ำ 116.06 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.ราษีไศล มีปริมาณน้ำ 115.07 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของความจุเก็บกัก อีก 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อ.ภูสิงห์ มีปริมาณน้ำ 89.31 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำคำ อ.เมือง มีปริมาณน้ำ 97.97 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยตาจู อ.ขุนหาญ มีปริมาณน้ำ 98.38 เปอร์เซ็นต์ และอ่างเก็บน้ำห้วยด่านไอ อ.กันทรลักษ์ มีปริมาณน้ำ 90.95 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอ่างเก็บน้ำอีก 6 แห่ง พบว่ามีปริมาณน้ำเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้วทุกแห่ง

ขณะที่บริเวณเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล เจ้าหน้าที่เร่งเปิดประตูระบายน้ำเพื่อเตรียมรับน้ำใหม่ที่จะไหลมาตามลำน้ำมูล และลำห้วยสาขา จาก จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ เข้าพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 83.24 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทางด้านเขื่อนหัวนา อ.กันทรารมย์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ที่ 99.56 เปอร์เซ็นต์ โดยทางด้านเขื่อนราษีไศล ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนท้ายเขื่อนที่อยู่ติดกับลำน้ำมูล ให้เตรียมรับมือมวลน้ำที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ อ.ราษีไศล อ.ยางชุมน้อย อ.อุทุมพรพิสัย อ.เมืองศรีสะเกษ และ อ.กันทรารมย์ ในระยะนี้

ด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ช่วงระยะนี้ขอให้พี่น้องประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ ของทางกรมอุตุนิยมวิทยา และประกาศจากทางจังหวัด รวมทั้งประกาศจากจากศูนย์ป้องกันภัย อย่างใกล้ชิด โดยหากบ้านเรือนประชาชนที่เป็นเส้นทางผ่านของน้ำอยู่แล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนเตรียมเก็บสิ่งของจำเป็นขึ้นที่สูงไว้ เพื่อเตรียมรับมือหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งผู้นำชุมชน หรือหมู่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ให้เตรียมพร้อมที่จะดูแลและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน ที่ไหนที่ท่วมซ้ำซาก มีสิ่งกีดขวางทางน้ำก็อยากจะขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ร่วมกับส่วนราชการ ในการช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนา ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำๆ