นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาดีเซล บี 7 อยู่ที่ราคา 30.29 บาทต่อลิตร ว่า จากปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นขณะนี้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ โดยเฉพาะด้านต้นทุนราคาสินค้า ล่าสุดโรงงานผลิตซีอิ้ว เครื่องปรุงรสบางแห่ง ฉวยโอกาสใช้ปัญหาดังกล่าวประกาศปรับขึ้นราคาอีก 10-15% นอกเหนือจากปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 รวมไปถึงการขนส่งสินค้า วัตถุดิบบางรายการเริ่มจัดส่งช้าลง หรือส่งได้ไม่ทันใจ  เนื่องจากอ้างเหตุผลต้องรอเติมสินค้าให้เต็มเที่ยวรถก่อน ออกเดินทาง เพื่อประหยัดค่าขนส่งอีกด้วย

“ผมมองว่า ในการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังซื้อตามนโยบายของรัฐบาลไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลถึงได้มองข้ามปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ทำไมไม่วางแผนแก้ปัญหา เพราะเท่าที่เห็นราคาน้ำมันในไทยปรับขึ้นมากกว่าราคาตลาดโลก ทั้งๆที่โดยปกติราคาน้ำมันจะปรับขึ้นตามราคาตลาดโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งตรวจสอบและแก้ปัญหาให้เร็ว เพราะเชื่อว่าหากคลายล็อกดาวน์ และหลายธุรกิจกลับมาทำงานปกติ จะมีการเดินทางต่างๆ รวมไปถึงด้านการท่องเที่ยวจะยิ่งทำให้กระทบในวงกว้างมากขึ้น”

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมการค้าภายในได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงติดตามความเคลื่อนไหวราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยขณะนี้ภาพรวมราคาสินค้ายังคงปกติ อาจมีบางรายการที่ปรับขึ้นลงเล็กน้อยตามการจัดโปรโมชั่น แต่ไม่ได้มีการขยับขึ้นราคาอย่างมีนัยยะสำคัญ จากสาเหตุของการขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนกรณีระบุว่า มีสินค้าเครื่องปรุงรสบางรายการปรับขึ้นราคา เบื้องต้นกรมฯ ยังไม่ได้รับรายงาน แต่จะขอลงไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกครั้ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างติดตามราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นช่วงราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศในแถบภูมิภาคตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการดูแลราคาน้ำมันในประเทศ เป็นการลอยตัวตามราคาตลาดโลก ยืนยันว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันในขณะนี้ เป็นไปตามราคาตลาดโลก ไม่ได้สวนทางสูงกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ หากราคาน้ำมัน โดยเฉพาะดีเซล ที่ใช้ในระบบขนส่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาคเอกชนระบุว่า เป็นต้นทุนในราคาสินค้าประมาณ 10-12% หากราคาน้ำมันดีเซล เกรดมาตรฐาน หรือดีเซล บี 10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10%ในทุกลิตร) ปัจจุบันราคา 27.29 บาทต่อลิตร (ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น) กระทรวงพลังงาน จะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เข้ามาดูแลเสถียรภาพราคาให้เหมาะสม โดยล่าสุดสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 19 ก.ย. 64 มีสินทรัพย์รวม 47,664 ล้านบาท มีหนี้สินกองทุนฯ รวม 35,807 ล้านบาท มีเงินเหลือสุทธิ 11,857 ล้านบาท แยกเป็นเป็นบัญชีน้ำมัน 29,040 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจี  ติดลบ 17,183  ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ผู้ใช้น้ำมันดีเซล ระบุว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปดูแล หลังจากราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้นทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น กรณีนี้ขอชี้แจงว่า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาราคาน้ำมันดีเซล บี 10 ที่เป็นเกรดมาตรฐานเป็นหลัก ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล ที่ราคา 30.29 บาท  เป็นดีเซล บี 7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7%ในทุกลิตร) แม้สัดส่วนการใช้ดีเซลบี 10 กับ บี 7 จะเป็น 50 : 50% ก็ตาม กระทรวงฯ ก็ต้องพิจารณาจากดีเซล บี 10 เป็นหลัก แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานว่า จะมีทิศทางในเรื่องนี้อย่างไร