สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ว่า ผลอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งแห่งชาติ ซึ่งมีการลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตามรายงานโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของเยอรมนี จากผลคะแนนที่ทยอยส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้ง 299 เขตเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคสังคมประชาธิปไตย ( เอสพีดี ) ที่มีจุดยืนแนวกลาง-ซ้าย ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด คิดเป็น 25.9% 
ตามด้วยพันธมิตรพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี ( ซีดียู ) กับพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน ( ซีเอสยู ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยม ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดส่วน 24.1% ขณะที่พรรคกรีนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดส่วนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรค คือ 14.6% และพรรคประชาธิปไตยเสรี ( เอฟดีพี ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายนักลงทุน ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดว่วน 11.5% โดยผลคะแนนสอดคล้องกับเอ็กซิตโพลที่รายงานทันทีหลังการปิดหีบเลือกตั้ง

ส่วนจำนวนประชาชนออกมาใช้สิทธิ อยู่ที่ประมาณ 46.8 ล้านคน คิดเป็น 76.6% จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 61.1 ล้านคน และเป็นการออกมาลงคะแนนเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2560
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังคงเต็มไปด้วยความคลุมเครือ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า พรรคเอสพีดีและพันธมิตรพรรคซีดียู/ซีเอสยู จะยังคงจับมือกันในนาม "รัฐบาลผสมใหญ่" ต่อไปหรือไม่ โดยทั้งสามพรรคจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันตั้งแต่ปี 2556 แต่หลายฝ่ายวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งสะท้อน "ความต้องการเปลี่ยนแปลง" ของประชาชน จึงเป็นไปได้สูงที่ พรรคกรีนและพรรคเอฟดีพีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล
ผู้สนับสนุนพรรคกรีนรวมตัวแสดงความยินดีกับผลงานอันยอดเยี่ยม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สำนักงานของพรรค ในกรุงเบอร์ลิน
ทั้งนี้ นายโอลาฟ โชลซ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังคนปัจจุบันของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้สมัครหมายเลขหนึ่งของพรรคเอสพีดี เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการเลือกตั้งครั้งนี้ บ่งชี้ว่าพรรคเอสพีดี "มีความชอบธรรมมากที่สุด" ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพชุดใหม่สำหรับเยอรมนี 
หากพรรคเอสพีดีเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โชลซ์ วัย 63 ปี จะเป็นตัวแทนจากพรรคเอสพีดีคนที่ 4 ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อจากนายวิลลี บรันด์ต์ นายเฮลมุต ชมิดต์ และนายแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์
นายมาร์คุส โซเดอร์ ( คนซ้าย ) หัวหน้าพรรคซีเอสยู และนายอาร์มิน ลาเชต หัวหน้าพรรคซีดียู และเป็นตัวแทนร่วมระหว่างทั้งสองพรรค ในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ขณะที่ นายอาร์มิน ลาเชต "ทายาทการเมือง" ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ในฐานะตัวแทนพรรคซีดียู/ซีเอสยู เพื่อชิงตำแหน่งผู้นำเยอรมนี กล่าวว่า "ไม่จำเป็นเสมอไป" ที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคซึ่งมีจำนวนที่นั่งมากที่สุด แม้เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2548 ที่พรรคซีดียู/ซีเอสยู "ไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง" ของการเลือกตั้งในสนามระดับประเทศ.

เครดิตภาพ : AP