เมื่อวันที่ 27 ก.ย. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.จนถึงปัจจุบันส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม รวม 120 อำเภอ 417 ตำบล 1,933 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,977 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และบุรีรัมย์ แต่ยังคงมีสถานการณ์ 23 จังหวัด ดังนี้

1.ตาก เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองตาก อ.แม่สอด อ.พบพระ และอ.อุ้มผาง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

2.สุโขทัย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสำโรง อ.คีรีมาศ และอ.เมืองสุโขทัย โดยระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

3.พิษณุโลก น้ำท่วมขังในพื้นที่อ.วังทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

4.เพชรบูรณ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองไผ่ อ.วิเชียรบุรี อ.ศรีเทพ อ.เมืองเพชรบูรณ์ และอ.บึงสามพัน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

5.พิจิตร ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร 5 อำเภอได้แก่ อ.บึงนาราง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพทะเล อ.สามง่าม และอ.ดงเจริญ ระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

6.กำแพงเพชร เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อ.ปางศิลาทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

7.เลย เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอได้แก่ อ.ด่านซ้าย และอ.ภูกระดึง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

8.ขอนแก่น ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โคกโพธิ์ไชย อ.มัญจาคีรี และอ.แวงน้อย ระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

9.ชัยภูมิ ฝนตกหนักและลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.หนองบัวระเหว อ.จัตุรัส อ.เมืองชัยภูมิ อ.เนินสง่า อ.บ้านเขว้า อ.ภูเขียว อ.บำเหน็จณรงค์ อ.คอนสาร อ.ภักดีชุมพล อ.หนองบัวแดง อ.บ้านแทน อ.เทพสถิต และอ.คอนสวรรค์ ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

10.นครราชสีมา น้ำล้นอ่างเก็บน้ำเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ด่านขุนทด อ.สูงเนิน อ.โนนสูง อ.เมืองนครราชสีมา และอ.พิมาย ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัวและอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำซึ่งไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร

11.สุรินทร์ น้ำท่วมขังในพื้นที่อ.สำโรงทาบ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

12.อุบลราชธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี และอ.วารินชำราบ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

13.สระแก้ว น้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ตาพระยา และอ.โคกสูง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

14.จันทบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.นายายอาม อ.เขาคิชฌกูฎ อ.ขลุง อ.มะขาม อ.ท่าใหม่ อ.แหลมสิงห์ และอ.เมืองจันทบุรี

15.นครสวรรค์ น้ำท่วมขังในพื้นที่ 14 อำเภอ ได้แก่ อ.ลาดยาว อ.หนองบัว อ.แม่วงก์ อ.เมืองนครสวรรค์ อ.ชุมตาบง อ.แม่เปิน อ.ตาคลี อ.พยุหะคีรี อ.ไพศาลี อ.ชุมแสง อ.ท่าตะโก อ.บรรพตพิสัย อ.โกรกพระ และอ.ตากฟ้า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำทรงตัวอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

16.อุทัยธานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สว่างอารมณ์ อ.เมืองอุทัยธานี อ.ลานสัก อ.บ้านไร่ และอ.ทับทัน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

17.ชัยนาท น้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ อ.เนินขาม และอ.หันคา ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

18.ลพบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อ.สระโบสถ์ อ.ชัยบาดาล อ.ลำสนธิ อ.โคกสำโรง อ.ท่าหลวง อ.บ้านหมี่ อ.โคกเจริญ อ.หนองม่วง อ.เมืองลพบุรี และอ.พัฒนานิคม ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

19.สุพรรณบุรี น้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสุพรรณบุรี อ.ศรีประจันต์ อ.หนองหญ้าไซร อ.บางปลาม้า . อ.เดิมบางนางบวช อ.สามชุก อ.สองพี่น้อง และอ.อู่ทอง ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

20.สิงห์บุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และอ.ค่ายบางระจัน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว

21.อ่างทอง น้ำท่วมขังในอ.เมืองอ่างทอง ระดับน้ำทรงตัว

22.พระนครศรีอยุธยา น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ผักไห่ อ.เสนา และอ.บางบาล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำระดับน้ำเพิ่มขึ้น

23.นครปฐม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อ.สามพราน อ.นครชัยศรี และอ.บางเลน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่ระดับน้ำทรงตัว และยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ

ทั้งนี้ ปภ. ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป.