นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมสามัญประจำปี 64 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวรองรับกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน โดยต้องเตรียมรับมือทั้งเรื่องดิจิทัล และด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล (อีเอสจี) ขณะที่ ธปท.พร้อมที่จะมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนและจูงใจให้ทุกฝ่ายสามารถปรับตัวในช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากช่วงวิกฤติได้อย่างราบรื่นและทันการณ์

ด้านดิจิทัลที่ผ่านมา เริ่มเห็นการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาทำธุรกิจชัดเจนขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น รวมถึงมีผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเตรียมความพร้อมในการรองรับกระแสดิจิทัลนี้ เป็นโจทย์สำคัญกับทุกภาคส่วน ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะส่งผลกระทบเร็วและแรงกว่าที่คาด ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วม เช่น สหภาพยุโรปได้ออกยูโรเปี้ยน กรีน ดีล ซึ่งจะคล้ายเก็บภาษีตามคาร์บอนสินค้าต่าง ๆ ถ้าไทยไม่ปรับตัว เช่น สินค้าส่งออกยังมีคาร์บอนมาก จะทำให้ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

นอกจากนี้ภาคธุรกิจ ต้องวางแผนทางการเงิน การบริหารความเสี่ยง การดำเนินกิจการหรือการลงทุนใหม่ จะต้องให้น้ำหนักมากขึ้นกับกระแสโลกใหม่ ทั้งการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และกระแสเรื่องดิจิทัลที่จะทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น

ขณะเดียวกันภาคประชาชน ต้องเตรียมรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น เร่งวางแผนทางการเงิน จัดเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางการเงินมากขึ้น และต้องเพิ่มความสำคัญกับการเท่าทันกับกระแสดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงานในโลกใหม่แล้ว ยังช่วยป้องกันการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจมีเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ ธปท.จะกำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์และดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศให้เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และต้องเพิ่มสมดุลระหว่างนวัตกรรมใหม่หรือมีผู้เล่นรายใหม่ กับการดูแลให้ระบบการเงินยังสามารถสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้และมีเสถียรภาพ รวมทั้งต้องแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและเอสเอ็มอีที่ยังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ขณะที่ภาครัฐ ต้องปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชนมากขึ้น ส่วนการขยายเพดานหนี้สาธารณะให้สูงขึ้นเป็น 70% แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดูแลสถานการณ์ให้ได้มากขึ้นและต่อเนื่อง แต่ก็ต้องใส่ใจกับการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อให้เศรษฐกิจกลับไปเติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้ยั่งยืน

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์มีบทบาทค่อนข้างมากจากปล่อยสินเชื่อยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อที่มาจากแบงก์รัฐ 5 ล้านล้านบาท โดยสินเชื่อยังโตใกล้เคียงกับก่อนโควิดที่ 4% คิดเป็นสินเชื่อใหม่ช่วงโควิดกว่า 5 แสนล้านบาท และสินเชื่อโตมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่วนแบงก์รัฐปล่อยสินเชื่อช่วงโควิดได้กว่า 3 แสนล้านบาท และ ธปท.มีมาตรการสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี ทำให้สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งหากไม่มีมาตรการสินเชื่อเอสเอ็มอีคงติดลบ 1%