สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาไอซ์แลนด์ชุดใหม่ทั้ง 63 ที่นั่ง ซึ่งมีการลงคะแนนเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในช่วงแรกเอ็กซิตโพลรายงาน การมีสมาชิกสภาหญิงได้รับการเลือกตั้งเข้ามา 33 ที่นั่ง เป็นสัดส่วนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และทำให้ไอซ์แลนด์เป็นสภาแห่งแรกในทวีปยุโรป ซึ่งมีจำนวนสมาชิกสภาหญิงมากกว่าชาย
อย่างไรก็ตาม ต่อมาสถานีโทรทัศน์อาร์ยูวีของรัฐบาลไอซ์แลนด์รายงานผลอย่างเป็นทางการว่า นักการเมืองหญิงได้ครองที่นั่ง 30 ที่นั่งในสภา หมายความว่าอีก 33 ที่นั่งเป็นของนักการเมืองชาย แต่เมื่อคำนวณเป็นอัตราส่วน ปรากฏว่าจำนวนนักการเมืองหญิงในสภาไอซ์แลนด์ชุดใหม่จะมีมากถึง 48% ยังคงสูงสุดในทวีปยุโรป มากกว่าสวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งมีสัดส่วนสมาชิกสภาที่เป็นหญิง 47% และ 46% ตามลำดับ
นายกรัฐมนตรีคาทริน จาค็อบสดอตทีร์ ใช้สิทธิเลือกตั้งที่คูหาแห่งหนึ่ง ในกรุงเรคยาวิก
ขณะที่รายงานโดยสภาเศรษฐกิจโลก "เวิลด์ อีคอนอมิก ฟอรัม" ( ดับเบิลยูอีเอฟ ) เผยแพร่เมื่อเดือน​ มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ไอซ์แลนด์ซึ่งมีประชากรราว 371,000 คน เป็นประเทศซึ่งมีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลก เป็นปีที่ 12 ติดต่อกันแล้ว
ทั้งนี้ทั้งนั้น จำนวนนักการเมืองหญิงในสภาไอซ์แลนด์ไม่ได้มีผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้มากนัก โดยพันธมิตรพรรคการเมือง 3 พรรค ของนายกรัฐมนตรีคาทริน จาค็อบสดอตทีร์ ได้รับการเลือกตั้งรวมกันมากที่สุด 37 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากได้เกินครึ่ง และเพิ่มขึ้น 2 ที่นั่งจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่เมื่อแยกออกเป็นรายพรรค ปรากฏว่า พรรคกรีนของจาค็อบสดอตทีร์ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อยที่สุดในกลุ่ม คือเพียง 8 ที่นั่ง ลดลง 3 ที่นั่งจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2560 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ "อนาคตทางการเมือง" ของผู้นำหญิงวัย 45 ปี.

เครดิตภาพ : AP