เมื่อวันที่ 27 ก.ย. พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ จำนวน 2 โครงการ คือ 1.โครงการจัดซื้อระบบการป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ พร้อมติดตั้ง และการฝึกอบรม (GBAD) และ 2.โครงการจัดซื้อดาวเทียม Micro Satellite พร้อมสถานีควบคุมภาคพื้น การฝึกอบรม อะไหล่ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น

กองทัพอากาศ ได้ดำเนินโครงการจัดซื้อระบบการป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ พร้อมติดตั้ง และการฝึกอบรม (GBAD) จำนวน 1 ระบบ เพื่อพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ โดยเฉพาะฐานบินปฏิบัติการที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งระบบในปัจจุบันมีกำหนดหมดอายุการใช้งานในปี 2564 โดยกองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดหาระบบทดแทน พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถให้สามารถปฏิบัติภารกิจป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารและป้องกันภัยทางอากาศ ตามที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวกองทัพอากาศ พ.ศ.2563

พล.อ.ท.ฐานัตถ์ กล่าวว่า โดยโครงการดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก กล่าวอ้างว่ากองทัพอากาศพยายามรวบรัดโครงการให้จบก่อนสิ้นเดือน ก.ย.2564 ข้อเท็จจริงคือ โครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลาและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการรวบรัดโครงการตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตแต่อย่างใด และประเด็นที่สอง กล่าวอ้างว่ามีการเปลี่ยนวิธีการประกวดราคา จากเดิมที่ใช้การคัดเลือก มาเป็นวิธีการเจาะจงเพียงบริษัทเดียว ซึ่งอาจเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐนั้น ข้อเท็จจริงคือ การเปลี่ยนวิธีประกวดราคาจากการคัดเลือกเป็นวิธีการเจาะจงสามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

พล.อ.ท.ฐานัตถ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการจัดซื้อดาวเทียม Micro Satellite พร้อมสถานีควบคุมภาคพื้น การฝึกอบรม อะไหล่ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กองทัพอากาศ ได้ดำเนินโครงการโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจการลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติในอวกาศ

โดยโครงการดังกล่าวมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์และหลักเกณฑ์การพิจารณาทำให้กองทัพอากาศเสียประโยชน์ ซึ่งข้อเท็จจริงคือ กองทัพอากาศได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ และหลักเกณฑ์การพิจารณา ให้เป็นไปตามหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ กองทัพอากาศขอยืนยันว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศทุกโครงการ ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและกองทัพอากาศเป็นสำคัญ.